เลขาฯ อย. เผยล่าสุดมี 6-7 บริษัทจาก 24 บริษัทปรับชุดตรวจโควิด “แรบิด แอนติเจน เทส” จากผู้ประกอบวิชาชีพต้องเป็นผู้ตรวจ เป็นประชาชนทั่วไปสามารถตรวจเองได้ ล่าสุดกก.เครื่องมือแพทย์ปลดล็อกใช้ในประชาชน พร้อมเสนอ รมว.สธ. ลงนาม หวังช่วยประชาชนเข้าถึงการตรวจเชื้อ ลดปัญหาคอขวดตรวจแบบ RT-PCR พร้อมจัดทำแนวทางการใช้ จัดระบบรองรับหากผลตรวจเป็นบวก เตรียมประชุมแนวทางในคณะกรรมการโรคติดต่อฯ พรุ่งนี้(12ก.ค.) ย้ำ! ใครขายตอนนี้ยังไม่มีกม.รองรับ
ตามที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้รพ.ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน เตรียมตรวจโควิดด้วย Rapid antigen test ให้ประชาชน ช่วยลดปัญหาคอขวดที่ประชาชนจำนวนมากรอรับบริการตรวจRT-PCR และขณะนี้เตรียมจะเปิด Rapid antigen test kitให้ประชาชนซื้อไปใช้ตรวจเองที่บ้าน จาก24บริษัทที่ผ่านการรับรองจากอย. โดยมีคู่มือแนะนำการใช้มอบให้ด้วย โดยจะดำเนินการตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไปนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. วันที่ 11 ก.ค. 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยปกติชุดตรวจแรบิด แอนติเจน เทส (Rapid antigen test) เป็นการตรวจแบบสว็อปคล้ายๆ RT-PCR โดยก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่เรียกว่า Professional Use ซึ่ง อย.อนุญาตให้บริษัทจำนวน 24 ยี่ห้อ โดยทางบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าจะจำหน่ายให้สถานพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน หรือคลินิก เทคนิคทางการแพทย์
“ล่าสุดได้ปรับรูปแบบการใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น โดยเรียกว่า แรบิด แอนติเจน เทส แบบ Home Use สามารถใช้ทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งแบบ Professional Use อย.อนุมัติ 24 ยี่ห้อ แต่การจะเปลี่ยน Professional Use ให้ประชาชนใช้ได้เอง ต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม เนื่องจากเดิมแบบ Professional Use ต้องแยงจมูกที่ลึก แต่เมื่อเป็นแบบประชาชนใช้ตรวจเอง อาจไม่ต้องแยงลึกมาก หรืออาจใช้น้ำลาย ซึ่งตรงนี้จะมีแนวทาง มีคู่มือแนะนำ จาก 24 บริษัท ขณะนี้มีการปรับรูปแบบการใช้ ประมาณ 6 บริษัท และมีการพิจารณาเพิ่มเติมอีก คาดว่า ประมาณ 6-7 บริษัท แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศออกมา น่าจะมีเพิ่มเติมมาอีก” นพ.ไพศาล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าปัจจุบันประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจดังกล่าวได้แล้วหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า กฎหมายยังไม่ออกมา แต่โดยหลักการในเรื่องนี้ได้มีการประชุมหารือไปแล้วในในการประชุมคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2564 ที่ผ่านมาได้มีการประชุม ขณะนี้เมื่อเลขาฯ อย.ลงนาม ก็จะเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) หลังจากนั้นรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางการใช้ต้องมีข้อปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากชุดตรวจดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้มีการหารือเรื่องนี้ เพราะมีความเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 12 ก.ค. เบื้องต้นสิ่งสำคัญขอย้ำว่า ณ ขณะนี้ยังขายให้ประชาชนไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้ เนื่องจากการใช้ชุดตรวจดังกล่าวจะมีคู่มือแนะนำประชาชน เพราะการตรวจวิธีนี้เป็นเพียงผลเบื้องต้น ซึ่งจะเหมาะสมกับผู้ที่มีเชื้อในปริมาณมาก โดยหากตรวจพบเชื้อก็ต้องเข้าสู่ระบบรองรับที่กระทรวงจัดเตรียมไว้ แต่ไม่ว่าอย่างไร เมื่อพบผลบวกก็ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR จากนั้นจะเข้าสู่ระบบการรักษาแบ่งตามกลุ่มอาการ อย่างอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการจะเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือระบบอื่นๆที่กระทรวงฯจัดรองรับไว้ แต่หากผลการตรวจออกมาเป็นลบ ทางประชาชนที่ทำการตรวจต้องพิจารณาด้วยว่า ตนเองมีประวัติเสี่ยงหรือไม่ หากมีหรือสงสัยก็ต้องกักตัว และตรวจซ้ำ อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานจะมีการเข้าสู่คณะกรรมการโรคติดต่อต่อไป
- 128 views