กรมวิทย์แจงชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในรพ. ไม่ใช่แบบตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยการเจาะเลือด แต่เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส ต้องเก็บตัวอย่างจากทางจมูกหรือจากลำคอ ย้ำต้องทำในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองว่าตรวจวิธีมาตรการ RT-PCR ได้ เนื่องจากตรวจแล้วหากผลบวก ต้องตรวจซ้ำด้วยอาร์ทีพีซีอาร์ แต่หากเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่ติด เชื้ออาจน้อย ต้องกักตัวสังเกตอาการ และตรวจภายหลัง

ตามที่นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้สามารถใช้ชุดตรวจเร็ว Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด 19 หลังจากช่วงที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากต่างไปรอคิวการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยการสว็อปเชื้อ หรือ การตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งใช้เวลารอผลนาน และคิวการรอก็นานไปด้วยนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : รอศบค.ชี้ขาด! หลัง สธ.เสนอจำกัดการเดินทาง -อนุมัติ รพ. ตรวจเชื้อโควิดแบบ “แรบิด แอนติเจน เทส”)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงการใช้ชุดตรวจเร็ว Rapid Antigen Test ว่า แท้จริงแล้วคืออะไร

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายเรื่องนี้ ว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ชุดตรวจแบบเร็วหรือ Test Kit มี 2 แบบ คือ 1.Antigen Test เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส จะเก็บตัวอย่างจากทางจมูก ลึกถึงคอหรือเก็บจากลำคอ และ 2.Antibody Test เป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน จะใช้การเจาะเลือดตรวจ ซึ่งอันหลังเราไม่เอามาใช้ เพราะปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือวัคซีนก็ได้ ซึ่งไม่สามารถแยกได้

ดังนั้น การใช้ Rapid Antigen Test ในที่นี้จึงเป็นแบบการตรวจ Antigen Test โดยการตรวจแบบนี้ต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ ซึ่งการใช้จะเป็นการอนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และดำเนินการโดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการตรวจวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300 แห่งเท่านั้น ซึ่งเพียงพอที่จะดำเนินการเพื่อลดการรอคิวได้ เพราะเป็นการลดการตรวจด้วย RT-PCR

“การตรวจแบบนี้ ยังไม่ได้เป็นการเปิดให้คลินิกไหนก็ได้ที่ไม่ได้รับการรับรองนำมาใช้ตรวจ เพราะเมื่อตรวจเป็นบวกแล้วต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ จึงต้องให้สถานพยาบาลหรือแล็ปที่ตรวจ RT-PCR ได้เป็นผู้ตรวจแอนติเจนเทสต์นี้ และยังไม่สามารถนำไปใช้ตรวจเองที่บ้านได้ แต่ในอนาคตจะวางระบบให้ตรวจเองที่บ้านได้ต่อไป เพราะต้องคิดถึงเรื่องการจัดส่งชุดตรวจ ตรวจเองได้แค่ไหน รายงานผลกับใคร ขอเป็นอีกยกที่พิจารณาให้รอบคอบ คุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อระบบในการรับมือโควิด 19” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วย Rapid Antigen Test เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้น หากผลเป็นลบยังต้องกลับไปกักตัว และรอติดตามมาตรวจภายหลัง ส่วนผลเป็นบวก เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวงก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ซึ่งหากผลเป็นลบก็ต้องกลับไปดูแลกักตัวเช่นกันเพราะมีความเสี่ยงมากแต่หากเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

ส่วนเรื่องของการเบิกจ่าย เดิมทีนั้น ถ้าเข้าเกณฑ์ สปสช.ให้เบิกไม่เกิน 450 บาทต่อราย ถ้าตรวจในหน่วยบริการจะเพิ่มค่าบริหารจัดการรวมแล้วไม่เกิน 600 บาทต่อราย ซึ่งเท่าที่ทราบ สปสช.กำลังพิจารณากำหนดเกณฑ์ออกมาให้สอดคล้องกับมาตรการ

นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ามีการตรวจลักษณะอย่างนี้ มีคนเข้าตรวจมากขึ้น เร็วขึ้น อาจเจอคนบวกมากขึ้น เมื่อเจอมากขึ้นขณะที่ระบบบริการควรสงวนไว้คนมีอาการหนัก อาจจะต้องควบคู่การดำเนินการ Home Isolation หรือ Community Isolation ดูแลไม่ให้แพร่เชื้อ ป่วยหนักมีการรับไปรักษาต่อไปป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ทั้งนี้ ปลัด สธ.จะเซ็นสั่งการตามแนวทางนี้ให้หน่วยบริการถือปฏิบัติต่อไป และ สปสช.กำลังทำเกณฑ์แนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณ จะเบิกจ่ายมากน้อยแค่ไหน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กก.เครื่องมือแพทย์ปลดล็อก Rapid Antigen Test ปชช.ตรวจโควิดได้เอง พร้อมเสนอ “อนุทิน” ลงนาม)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org