ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ชูโครงการพัฒนานวัตกรรมการตรวจเชื้อ โควิด-19 เผยผลศึกษาตัวอย่างน้ำลายและตัวอย่างอื่นๆ ของกลุ่มติดเชื้อมีอาการและไม่มีอาการ พบโปรตีนไวรัสตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลตา อัลฟา และเบตา เบื้องต้นผลดี เมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบพีซีอาร์ในตัวอย่างการแยงจมูกและลำคอ แม้เชื้อปริมาณไม่มาก
ศ.นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวิธีการตรวจหาชิ้นส่วนของโปรตีนของโควิด-19 และโปรตีนตอบสนองการติดเชื้อในน้ำลายและจากตัวอย่างอื่น ๆ ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจวิเคราะห์ขั้นสูงโดยกระบวนการแมสสเปกโตรเมตรี ซึ่งสามารถทำให้ตรวจจับไวรัสได้ในตัวอย่างจำนวนมากโดยใช้เวลาไม่นาน
จากการศึกษาตัวอย่างน้ำลาย และตัวอย่างอื่น ๆ จากผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ พบว่าสามารถตรวจพบโปรตีนจากไวรัส และโปรตีนตอบสนองต่อทั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ปกติ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อัลฟา(อังกฤษ) และเบตา(แอฟริกาใต้) เป็นไปอย่างได้ผลดี เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการตรวจด้วยพีซีอาร์ในตัวอย่างที่ได้จากการแยงจมูกและลำคอ แม้ในตัวอย่างที่มีปริมาณไวรัสจำนวนไม่มากก็ตาม
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ด้วยตัวอย่าง”น้ำลาย” จากผู้ป่วยที่ได้ผลบวกจากการตรวจด้วยพีซีอาร์จากการแยงจมูก 87 ราย และตัวอย่างลบ 93 ราย พบว่าตรงกัน และมีตัวอย่างที่อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์อีก 915 ราย จากพื้นที่ และจากคลังที่มี 44,300 ตัวอย่างตั้งแต่ที่มีการระบาด
กระบวนการวิเคราะห์และแปลผลนี้ ทำโดยการประมวลข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง เพื่อช่วยให้มีความสะดวก และตัดสินผลของการวิเคราะห์ได้โดยใช้เวลาไม่นาน และอยู่ในระหว่างการจดสิทธิบัตรโปรแกรม
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่กระบวนการดังกล่าวยังไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทำการประเมินความไว และความแม่นยำ ในตัวอย่างที่มากขึ้น โดยจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ ด้วยปัญญาประดิษฐ์และเครื่องมือเกิดความแม่นยำสูงสุด
ทั้งนี้ ด้วยมีจุดประสงค์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ และมีความสะดวกในการเก็บตัวอย่าง เช่น น้ำลาย ที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เกิดความประหยัดในการตรวจคัดกรองคนจำนวนมาก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ยังคงสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์โรคระบาด
นอกจากนั้น ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์โปรตีนยังสามารถผันไปใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษากลไกการตอบสนองทางร่างกายของผู้ติดเชื้อแต่ละราย และสามารถขยายขอบเขตในการวิเคราะห์วินิจฉัยโรคติดเชื้อชนิดอื่น ๆ รวมทั้งกรณีโรคไม่ติดเชื้ออย่างอื่น อาทิ โรคสมองเสื่อมในแบบต่าง ๆ โรคในกลุ่มความผิดปกติของระบบเผาผลาญและภูมิคุ้มกันต่าง ๆ เป็นต้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 45 views