กระทรวงสาธารณสุข ย้ำผู้ติดเชื้อโควิดหรือสัมผัสเสี่ยงสูงไม่ควรเดินทางข้ามจังหวัด หากจำเป็นให้ปฏิบัติ 6 ข้อแนะนำ โดยติดต่อศูนย์ประสานจังหวัดปลายทางเพื่อเตรียมรับการรักษาหรือกักตัว ให้เดินทางโดยรถส่วนตัว ใส่หน้ากากตลอดเวลา เผยวัคซีนโควิด  3 ชนิด ที่ใช้และเตรียมนำเข้าในไทย

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 ที่ประเทศไทยมีทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนไฟเซอร์ที่จะนำเข้า ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้ลงนามในสัญญาการรับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดสแล้ว และจะลงนามสัญญาซื้อ 20 ล้านโดสภายในสัปดาห์นี้ ภายหลังนำข้อแนะนำของอัยการสูงสุดไปหารือ ทั้งหมดต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ทั้งนี้ จากการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนทั้ง 3 ชนิด มีดังนี้ “แอสตร้าเซนเนก้า” มีข้อมูลจากการใช้จริงในอังกฤษ พบว่า ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 89% ลดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ 80% ในสกอตแลนด์ลดความรุนแรงที่ทำให้เข้าโรงพยาบาล 88% และในอิตาลีลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต 95% ส่วนความปลอดภัยเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำที่กังวลนั้น ประเทศไทยฉีดแล้ว 4 ล้านกว่าโดส มีอาการที่สงสัยลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ 2-3 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ

 

สำหรับ “ไฟเซอร์” ป้องกันการติดเชื้อ 95% ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง 97% ป้องกันเสียชีวิต 96% และลดความเสี่ยงติดเชื้อ 90% ด้านความปลอดภัย ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริการายงานว่า เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นพบ 8 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส เมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นถือว่ายังมีประโยชน์ สหรัฐฯ และองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ โดยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด  

 

ส่วน “ซิโนแวค” การใช้จริงที่อินโดนีเซียป้องกันการป่วย 94% ลดการเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 96% และป้องกันการเสียชีวิต 98% ชิลีพบลดการเจ็บป่วยรุนแรง 89% และบราซิลป้องกันการเสียชีวิต 95% ยังไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง ถือว่ามีประสิทธิภาพการใช้จริง ลดการติดเชื้อ ลดการป่วยรุนแรง และลดเสียชีวิตได้ใกล้เคียงกับไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า 

“ผลจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้หลายบริษัท รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า เริ่มการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่หรือรุ่นสอง หากพัฒนาประสบความสำเร็จ มีโอกาสนำมาใช้ในประเทศไทย ส่วนไฟเซอร์ ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนต้องติดตามต่อไป ดังนั้นวัคซีนที่ประเทศไทยใช้และจะนำเข้ามาใช้ มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง และลดเสียชีวิต ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังให้ครอบคลุมภายในกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้” นพ.โอภาสกล่าว

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือมีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงไม่ควรเดินทาง หากมีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัด ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ติดต่อศูนย์ประสานงานจังหวัดปลายทาง/ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลปลายทาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมดูแลรับการรักษาหรือกักตัว หากไม่แจ้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในครอบครัว ชุมชน หรือในโรงพยาบาล 2.เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น ไม่เดินทางด้วยรถสาธารณะ 3.เตรียมหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และถุงใส่ขยะส่วนตัว 4.เตรียมยาบรรเทาอาการหรือโรคประจำตัว 5.จัดเตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอ ไม่แวะสถานที่อื่นระหว่างทาง และ 6.เตรียมข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่ต้องขอช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างทาง

 

“ระหว่างเดินทางขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ล้างมือบ่อยๆ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะล้างมือก่อนใช้และหลังใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อโรคที่มือ

ไม่เปื้อนพื้นผิวของห้องน้ำ ห้ามแวะพักระหว่างเดินทาง ตรงไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่แจ้งไว้ทันที และเปิดหน้าต่างรถให้มากสุด เพราะอากาศไหลเวียนที่ดีจะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เมื่อถึงจุดหมายปลายทางให้แจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รับประสาน เพื่อเข้าระบบการรักษาต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว 

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2% ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 0.8% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก และค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับการรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ต้องรายงานการเสียชีวิตผู้ป่วยที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกองระบาดวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูล บางจังหวัดรายงานเร็ว บางจังหวัดอาจล่าช้า เนื่องจากต้องตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากโควิดหรือไม่ เช่น บางรายเสียชีวิตจากโรคประจำตัวหลังจากรักษาหายนานแล้ว หรือบางจังหวัดมีรายงานผู้เสียชีวิตสะสมจำนวนหนึ่งและรายงานในครั้งเดียว ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตมีขึ้นมีลงตามข้อมูลที่ได้รับการแจ้ง ซึ่งพยายามเก็บรวบรวมจากทุกสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ยืนยันว่าโปร่งใสตรวจสอบได้

 

“กทม.และปริมณฑลบางจังหวัดมีผู้ป่วยตกค้างที่บ้านและชุมชน บางรายมาโรงพยาบาลไม่ทันและเสียชีวิต หรือบางรายตรวจพบเชื้อตอนชันสูตร ซึ่งทางแพทย์นิติเวชสงสัยก็จะมีการตรวจหาเชื้อเช่นกัน หากพบโควิดจะรายงานมาที่กองระบาดวิทยาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว