กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด ภาพรวม 1 เม.ย.-2 ก.ค. ยังเป็นอัลฟา แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบเดลตาเพิ่มขึ้น โดยกทม. เดลตาระบาดมากกว่าอัลฟาแล้วในทุกเขตพื้นที่

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการติดตามสายพันธุ์โควิด ว่า ข้อมูลการจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 2 ก.ค. 2564 ภาพรวมทั้งประเทศเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 เม.ย.-2 ก.ค.2564 เป็นสายพันธ์อัลฟา(อังกฤษ) 81.98 % เดลตา(อินเดีย) 16.36 % และเบตา(แอฟริกาใต้) 1.66 % ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจสายพันธุ์ในภาพรวมประเทศพบว่าสายพันธุ์เดลตา 32.2% อัลฟา 65.1 % และเบตา 2.6 % หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่กทม. สายพันธุ์เดลตา 52 % อัลฟา 47.8 % เบตา 0.2 % ซึ่งจะเห็นว่าในพื้นที่กทม.สายพันธุ์เดลตาระบาดมากกว่าอัลฟาแล้ว ถือว่าเป็นการเข้ามาค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย ในขณะที่ต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วพบแล้วเดลตา 18 % ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยพบใน 47 จังหวัด ส่วนอัลฟาพบ 77.6 % และเบตา 4.4 %

"สถานการณ์โควิดในกทม.การแพร่ระบาดใน กทม.ขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา กระจายอยู่ในทุกเขต ทางตอนเหนือแชมป์หลักสี่ไปทางทิศตะวันตกตอนล่างมากพอสมควรและกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ " นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) สัปดาห์ที่ผ่านนมาเพิ่ม 50 กว่ารายแต่ยังจำกัดวงอยู่ที่จ.นราธิวาสมีกระจายไปจังหวัดใกล้เคียงอยู่พอสมควรที่ จ.สุราษฎร์ธานีมียืนยัน 1 ราย นครศรีธรรมราช 3 ราย กระบี่ 1 ราย ส่วนกรุงเทพฯเพิ่มอีก 2 รายซึ่งเป็นญาติของรายแรกที่พบการติดเชื้อ หมายความว่าพื้นที่กรุงเทพฯยังไม่ได้มีการกระจายไปไหนแต่ยังเป็นผู้ที่ติดจากรูปที่มาจากจังหวัดนราธิวาส

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรมวิทย์ กำลังดำเนินการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนโควิด โดยวางแผนจะทดสอบทั้งในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 8 กลุ่ม ตัวอย่างเลือดกลุ่มละอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง คือ 1.ซิโนแวค 2 เข็ม มีแล้ว 12 ตัวอย่าง 2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีแล้ว 31 ตัวอย่าง 3.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 4.ซิโนแวคตามด้วยแอสร้าเซนเนก้า มีแล้ว 8 ตัวอย่าง 5. ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 6.mRNA 2 เข็ม มีแล้ว 20 ตัวอย่างจากผู้ที่เดินทางไปฉีดหรือมาจากต่างประเทศ 7.ซิโนแวค 1 เข็มตามด้วย mRNA และ8.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ตามด้วย mRNA โดยในส่วนที่มีตัวอย่างอยู่แล้วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มอื่นก็จะทำให้เร็ว เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงโมเดลที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนสำหรับประเทศไทย จะเสนอฝ่ายนโยบายในการพิจารณาต่อไป

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org