รองปลัดสธ. ขอบคุณแพทย์เชี่ยวชาญ 4 สาขา 144 คน เสียสละปฏิบัติงานพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ช่วยผู้ป่วยโควิด 4 จุดหลักเพิ่มเตียงไอซียู ด้าน “หมอธงชัย” กล่าวเสียงสะอื้นวิกฤตจริง ต้องขอโทษและขอบคุณที่มาช่วยผู้ป่วยโควิดทุกคน
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอความร่วมมือแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอายุรแพทย์ และเวชบำบัดวิกฤตกว่า 100 คนที่จบหลักสูตรเชี่ยวชาญในวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมาตามสถานฝึกอบรมโรงเรียนแพทย์ต่างๆในพื้นที่กทม. และจะต้องกลับไปยังโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดของตนเองนั้น โดยขอให้วันที่ 1 ก.ค. มารายงานตัวที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนกระจายไปยังจุดเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จนถึงภายในสัปดาห์นี้ เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือนนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ก.ค. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดการเปิดอบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ก่อนปฏิบัติงานในพื้นที่เขตสุขภาพ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด19 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. มาชี้แจงและให้กำลังใจพร้อมขอบคุณแพทย์ทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธงชัย ได้ให้ข้อมูลแก่แพทย์เฉพาะทาง 4 สาขา ถึงการปฏิบัติงานช่วยผู้ป่วยโควิดในภาวะวิกฤตพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยระหว่างนั้น นพ.ธงชัย กล่าวพร้อมเสียงสะอื้น ว่า อยากฝากพวกเราให้ดูแลคนไข้ดีที่สุด วันนี้ขาดแคลนจริงๆ ไอซียู เราไม่อยากให้คนไข้ต้องรอ วันนี้ขอกราบขอบคุณน้องๆทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายๆ คนอาจคิดว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ต้องเป็นเรา จึงต้องขอความร่วมมือจริงๆ
นพ.สุระ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างแพทยสภา และยูฮออสเน็ท หรือมหาวิทยาลัยที่ทำการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในแต่ละปี โดยปกติการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านที่จะสำเร็จการศึกษาจะต้องสอบกลางปี แต่ปีนี้ให้คุณหมอต่างๆ เหล่านี้สำเร็จการศึกษาภายในวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งวันนี้(1 ก.ค.) คุณหมอต่างๆสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยที่ผ่านมาในการประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขมีการหารือถึงการระบาดโควิด โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. มีปัญหาเรื่องเตียงสีแดง โดยเฉพาะไอซียูมีจำกัด ไม่สามารถรับคนไข้สีแดงได้ ซึ่ง 4 หน่วยบริการ คือ รพ.รามาธิบดี วชิรพยาบาล รพ.ธรรมศาสตร์ และรพ.พลังแผ่นดิน ของมงกุฎวัฒนะ จะขอขยายเตียงไอซียู จึงต้องการได้แพทย์และพยาบาลเพิ่มเติมในการช่วยเหลือผู้ป่วยใน กทม. และปริมณฑล
“ในส่วนของแพทย์ที่จบเชี่ยวชาญ 4 สาขา มี อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ซึ่งเป็นสาขาหลักที่ต้องทำงานในห้องผู้ป่วยวิกฤต จึงเชิญแพทย์ทั้ง 4 สาขาจำนวน 144 คน มาประชุมชี้แจงว่า ต้องส่งคุณหมอไปทำงานในพื้นที่ระบาดมากขึ้น ซึ่งคุณหมอที่อยู่ในสังกัดเขตสุขภาพที่ 4 , 5 , 6 และ 12 เราส่งกลับไปยังพื้นที่ของท่าน เพราะในเขต 4 โดยเฉพาะนนทบุรี ปทุมธานีก็มีคนไข้มาก เขตสุขภาพที่ 5 ของเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาครมีคนไข้มากเช่นกัน และเขตสุขภาพ 6 ชลบุรี และสมุทรปราการก็เช่นกัน จึงต้องส่งกลับ รวมถึงเขต 12 ในจังหวัดภาคใต้ก็มีคนไข้สูงจึงต้องส่งคุณหมอกลับไป จะเหลือคุณหมอจำนวน 69 คนไปปฏิบัติงานยังห้องไอซียู 4 แห่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายตัวรับคนไข้” นพ.สุระ กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีพยาบาลมีการบริหารจัดการกำลังคนอย่างไร นพ.สุระ กล่าวว่า ส่วนกรณีการเพิ่มสัดส่วนพยาบาลนั้น เขตสุขภาพทุกเขตได้ส่งพยาบาลมาให้เรา โดยทางกองตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมและจัดส่งพยาบาลที่ไปช่วยในไอซียู 4 แห่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะมีการประเมินสถานการณ์ทุกเดือน โดยเบื้องต้นเดือนก.ค.ก่อน เพราะในภูมิภาคเอง ที่ให้น้องๆมาช่วย เนื่องจากมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของกทม.และปริมณฑล ซึ่งก็มีคนไข้ส่วนหนึ่งไปเพิ่มขึ้นในภูมิภาค จึงต้องมีความจำเป็นต้องใช้แพทย์ในต่างจังหวัดด้วย หากเดือน ก.ค.นี้เริ่มดีขึ้นเราก็จะจัดส่งคืนคุณหมอกลับคืนปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเองต่อไป
เมื่อถามว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แพทย์บางท่านไม่ได้อยากถูกส่งตัวมาปฏิบัติงานเช่นนี้ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ได้มีการแจ้งเรียนคุณหมอให้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะเราไม่ได้อยากบังคับให้ทำงาน แต่เราเห็นปัญหาว่า ประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤต หากเราไม่ช่วยเหลือคนไข้ หากควบคุมกทม.ไม่ได้ ก็จะกลับไปยังต่างจังหวัดเช่นกัน
“ขอย้ำว่า คุณหมอเหล่านี้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง 4 สาขาเป็นสาขาเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ไม่ใช่แพทย์จบใหม่ จบมาหลายปีแล้ว แต่มาเรียนต่อเฉพาะทาง เพื่อกลับไปดูแลคนไข้ที่มีความซับซ้อนมากกว่าปกติ ซึ่งที่ผ่านมาคุณหมอเหล่านี้ก็ผ่านการช่วยคนไข้วิกฤตมาแล้ว จึงมั่นใจได้ ที่สำคัญคุณหมอกลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกันแล้ว และทางเราก็มีระบบในการช่วยเหลือดูแล มีค่าตอบแทน เงินช่วยเหลือต่างๆตามระเบียบ” นพ.สุระ กล่าว และว่า สำหรับแพทย์จะทำงานผลัดละ 8 ชั่วโมง โดย 7 วันทำงาน 5 ผลัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หากมีความจำเป็นต้องขอร้องคุณหมอให้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น นอกเวลาราชการ หากสถานการณ์คนไข้ยังมีมาก ส่วนพยาบาลก็ต้องมาพิจารณาว่า อาจเป็น 1 คนดูแล 1 เตียงหรือ 2 เตียงต้องพิจารณา” นพ.สุระ กล่าว
อ่านต่อ : เสียงของหมอ! แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกับการปฏิบัติงานช่วยผู้ป่วยโควิด กทม. ปริมณฑล
- 156 views