5 วิธีตรวจเช็ก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เคยสังเกตกันไหม หลายครั้งเรามีอาการใจสั่นเพราะเข้าใจว่า เจอคนหน้าตาดี หรือเจอคนพูดเสียงดัง เลยเกิดตกใจ ทำให้ใจสั่น หากคุณเคยมีอาการใจสั่นแบบนี้ นี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 

ซึ่งในทางการแพทย์แล้ว เราถือว่าอาการใจสั่นคือความผิดปกติ เพราะปกติหัวใจเราจะเต้นอยู่ตลอดเวลาเป็นธรรมชาติของมัน ทำให้เราแทบไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำว่าหัวใจกำลังเต้นอยู่ เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามหากคุณเคยมีอาการใจสั่น โดยที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ การที่หัวใจสูญเสียการเต้นแบบปกติไป อาจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติก็ได้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. หัวใจเต้นเร็ว
2. หัวใจเต้นช้า
3. หัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะ หรือหัวใจเต้นพลิ้ว
4. ภาวะหัวใจหยุดเต้น
.
โดยปกติแล้วหัวใจเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง/วัน  หรือ 60-100 ครั้ง/นาที หากเต้นเกิน 100 ครั้ง ถือว่าหัวใจเต้นเร็ว แต่ถ้าเต้นต่ำกว่า 60 ครั้ง ถือว่าหัวใจเต้นช้า แต่ถ้าเราเราออกกำลังกายจะเป็นการตอบสนองของร่างกาย (Physiological responses) อยู่แล้วว่าหัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น ตรงกันข้าม หากเราออกกำลังกายแล้วหัวใจยังเต้นช้าอยู่ หรือไม่ได้เต้นเร็วขึ้น กรณีนี้ถือว่าผิดปกติ ยกเว้นนักกีฬาที่ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เช่น นักวิ่งมาราธอน หัวใจของคนกลุ่มนี้อาจเต้นปกติได้อยู่เมื่อออกกำลังกาย
.
คนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถสังเกตตัวเองได้ง่าย ๆ หากหัวใจเต้นเร็ว จะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก แต่ถ้าหัวใจเต้นช้าจะเวียนหัว หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ส่วนหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะ หรือหัวใจเต้นพลิ้ว จะมีอาการอ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง
.
การวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะในปัจจุบัน มี 5 วิธี คือ
.
1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) 
เป็นการตรวจแบบ Real-time ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ค่าใช้จ่ายไม่แพง ถ้าตรวจที่โรงพยาบาลรัฐบาลประมาณ 300 บาท ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเป็นประจำทุกปี
.
2. การตรวจและบันทึกเครื่องไฟฟ้าหัวใจ (Holter Monitoring) 
วิธีตรวจจะคล้าย ๆ ECG จะแต่เครื่องมือติดไว้กับคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้คนไข้นำกลับบ้านไปด้วย แพทย์จะทราบว่าใน 24 ชั่วโมงนั้น คนไข้มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติอย่างไร
.
3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) 
ในรายที่ออกกำลังกายแล้วหัวใจยังเต้นช้าอยู่ถือว่าผิดปกติ
.
4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาชนิดฝัง (Implantable Loop Recorder) 
จะเป็นการฝังเครื่องไว้ใต้ผิวหนัง หากเกิดความผิดปกติ แพทย์จะนำออกมาดูได้ กรณีนี้แนะนำให้ใช้ในคนไข้ที่ไม่ได้มีอาการทุกวัน
.
5. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) 
เป็นการตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจเพื่อหาโรคบางชนิด เช่น คนไข้ที่มีภาวะหัวใจผิดปกติบางราย อาจเกิดจากผนังหัวใจหนาผิดปกติ เพราะโรคบางชนิด
.
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีภาวะการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ จึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่สำหรับกลุ่มคนที่แต่ไม่เคยมีอาการใด ๆ มาก่อน อาจยากต่อการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นได้
----
ชมคลิปเพิ่มเติม
https://youtu.be/sE2FLlXlwR0
----
ข้อมูลโดย: ผศ.พญ.ชญาสินธุ์ แม้นสงวน 
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อายุรแพทย์โรคหัวใจ
อาจารย์ประจำคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล
#หัวใจเต้นผิดจังหวะ
#พบหมอมหิดล
#MahidolChannel