ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศคุมเข้มโควิด 10 จังหวัด10 มาตรการ เริ่ม 28 มิ.ย. 64 ไม่ได้ "ล็อกดาวน์" แต่จำกัดพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพิ่มเติมมาตรการให้ร้านอาหารเครื่องดื่มห้ามนั่งกิน ซื้อกลับไปบริโภคเท่านั้นเป็นเวลา 30 วัน เข้มการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางอย่างน้อย 30 วัน
เมื่อค่ำวันที่ 26 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ลงนาม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยมีสาระสำคัญ ในการควบคุมโควิด-19 ระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ และกิจการร้านตามของพื้นที่ระบาด มีทั้งหมด 10 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ สำหรับเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ให้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อควบคุมและชะลอการระบาด ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายหลายพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่น โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการทุก 15 วัน โดยให้นำมาตรการควบคุมบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.2564 ใช้บังคับกับพื้นที่ดังกล่าว
2. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณามีคำสั่งปิดแคมป์คนงานทุกประเภท รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตรวจตราและกำหนดเงื่อนไขจำกัดการเดินทางเข้าออกสถานที่พัก และตั้งจุดตรวจและสกัดการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ พร้อมสั่งปรับปรุงสุขาภิบาลของสถานที่พักและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นการตามมาตรการควบคุมโรค
3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงานในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการในสถานประกอบการหรือโรงงานให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal
4. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล นอกจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.2564 ให้เพิ่มเติมมาตรการต่อไปนี้อย่างน้อย 30 วัน
- การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดค้าส่ง หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้าย ให้ร้านอาหารเครื่องดื่มเปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการถึง 21.00 น. โดยงดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร
- โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง
- กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
5. มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กวดขันการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดโรค
เมื่อพบแหล่งระบาดเป็นกลุ่มก้อน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด
6. การให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ให้เจ้าหน้าที่ โดยการสนับสนุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่หรือจำกัดการเดินทางออกเข้าจากพื้นที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม
7. กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางอย่างน้อย 30 วัน
- เส้นทางเข้าออกจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ให้ตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด คนเดินทางเข้าออกต้องแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ คู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น
- เส้นทางเข้าออก กทม.และจังหวัดปริมณฑล การตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานเข้มเขตจังหวัดให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทาง ส่วนประชาชนที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชน และต้องไม่ก่อความเดือดร้อนเกินสมควรแก่เหตุ
- เส้นทางเข้าออกจังหวัดอื่นๆ การตั้งด่านตรวจ ให้ดำเนินการเข้มงวดกรณีพบผู้เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
8. การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้มงวดตรวจตราเพื่อปราบปรามไม่ให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการที่ผิดกฎหมาย ทั้งลักลอบเล่นพนัน เสพยาเสพติด รวมกลุ่มลักษณะที่นำไปสู่การแข่งรถในทาง หรือฝ่าฝืนเปิดดำเนินการของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามการเปิดไว้
ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเดินทางหรือขนย้ายแรงงาน หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ออกจากสถานที่พักคนงานโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคัดกรองโรค เป็นเหตุให้เกิดการระบาดกลุ่มก้อนขึ้นใหม่ อาจต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
9. มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้คงพิจารณาดำเนินการมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขึ้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล
10. การงดจัดกิจกรรมทางสังคม ให้งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป
- 480 views