ปลัด สธ. ประสานบุคลากรทางการแพทย์ ทั้ง “อายุรแพทย์ -เวชบำบัดวิกฤต” รายงานตัว 1 ก.ค.64 ปฏิบัติงานช่วยวิกฤตโควิดพื้นที่กทม. ย้ำ! บุคลากรรักษาคนไข้ในโรงเรียนแพทย์อยู่แล้ว มีความเชี่ยวชาญ ไม่ต้องกังวล เมื่อจบหลักสูตร เมื่อจบหลักสูตร 30 มิ.ย. ขออย่าเพิ่งกลับประจำ รพ.หรือตามจังหวัดของตน แต่ขอให้ปฏิบัติงานสู้โควิด กทม.เป็นเวลา 2 เดือน
จากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงร่วมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข แถลงตอนหนึ่งถึงมาตรการรองรับผู้ป่วยหนัก เห็นชอบการเพิ่มกำลังบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการสลับสับเปลี่ยนพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือพื้นที่ระบาด อย่างกทม. ปริมณฑล อีกทั้ง มีการหารือทั้งจากแพทยสภา ราชวิทยาลัยกรณีมีนักศึกษาที่จะจบใหม่จำนวนหนึ่งสามารถมาสนับสนุนช่วยเหลือได้นั้น
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าว “ Hfocus “ ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือไปยังเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตสุขภาพ ขอให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งอายุรแพทย์ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤต ที่กำลังศึกษาที่ส่วนกลางตามสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ในพื้นที่กทม. อยู่แล้ว และจะจบหลักสูตรในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ รวมไปถึงที่ศึกษาในสถาบันฝึกอบรมส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย อายุรแพทย์ 80 คน เวชบำบัดวิกฤต 8 คน รวม 88 คน รายงานตัวในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข และเริ่มปฏิบัติงานช่วยราชการเป็นกรณีพิเศษในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามส่วนกลางเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือแต่ละสถาบันฝึกอบรม อนุเคราะห์หอพักให้แพทย์กลุ่มนี้ในระหว่างที่ปฏิบัติงานช่วยสถานการณ์โควิดครั้งนี้
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องจริง แต่บุคลากรเหล่านี้ศึกษาอยู่ในพื้นที่กทม. ตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ซึ่งปกติเมื่อศึกษาจบ จะต้องส่งคืนไปประจำยังพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไป แต่เมื่อกทม. ประสบปัญหาโรคโควิดระบาด ขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข และทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันและหาทางช่วยเหลือ จึงได้ประสานแจ้งไปทางเขตสุขภาพต่างๆ ทั้ง 12 เขตสุขภาพเพื่อให้สื่อสารกับสถานพยาบาลในจังหวัด โดยจะขอให้มาช่วยทำงานอยู่ในพื้นที่กทม. ก่อนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคมจนถึงสิงหาคม 2564
“บุคลากรกลุ่มนี้ จะเป็นอายุรแพทย์ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤต เรียกว่า จบมาเป็นแพทย์เชี่ยวชาญ ซึ่งพวกเขาเรียนอยู่ที่กรุงเทพอยู่แล้ว และเป็นหมอรักษาคนไข้ มีความชำนาญ อย่างมาเรียนก็มีการรักษาคนไข้ โดยมีอาจารย์แพทย์เป็นที่ปรึกษา ซึ่งจะอยู่ตามโรงเรียนแพทย์ในกทม. และจะจบหลักสูตรในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ หากสถานการณ์ปกติก็จะไปประจำตามต่างจังหวัด แต่ขณะนี้มีการระบาดโควิดในกทม. เราจึงให้พวกน้องๆมาช่วย ประมาณ 2 เดือน โดยจะส่งกระจายไปยัง รพ.ที่เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยโควิด เช่น รพ. บุษราคัม ซึ่งขณะนี้เตรียมพร้อมเป็นรักษากลุ่มผู้ป่วยสีส้ม ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายช่วยกันหมด ทั้งรัฐและรพ.เอกชน โดยสัปดาห์หน้าคาดว่าเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีแดงได้อีกประมาณ 80 เตียง” ปลัดสธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถาบันฝึกอบรมส่วนกลาง ประกอบด้วย ของทางโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี วิทยาลัยแพทยศาสตร์/โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลตำรวจ
- 37 views