นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราเริ่มแคมเปญระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายในการฉีดอยู่ที่ 50 ล้านคน หรือประมาณ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งแม้จะมีความขลุกขลักในเรื่องการกระจายวัคซีนอยู่บ้าง แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากที่เริ่มได้วัคซีนเข็มแรกกันไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวทางการฉีดวัคซีนในขณะนี้เป็นการจัดสถานที่ฉีดเป็นแห่งๆ เช่น ตามโรงพยาบาลต่างๆ คนที่จะรับวัคซีนก็ต้องเดินทางไปที่จุดฉีด ถ้าเป็นในเมืองหรือพื้นที่ที่ระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมก็คงไม่มีปัญหานัก แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายๆพื้นที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล รถเมล์ รถสองแถวก็ไม่มี ก็จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถส่วนตัวหรือให้ญาติพี่น้องเพื่อฝูงพามา

แต่ก็มีหลายพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และจัดหายานพาหนะพาคนในพื้นที่ไปส่งถึงโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพนสูง (อบต.โพนสูง) อ.ด่านซ้าย จ.เลย ที่จัดทำโครงการจัดรถรับส่งประชาชนไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล โดยใช้เงินจากเงินประเภทที่ 1 เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขภาพของหน่วยบริการ หรือสถานบริการ หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ จากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) หรือ กองทุนสุขภาพตำบล

นางปณิธี ประสมทรัพย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ อบต.โพนสูง ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ลักษณะของพื้นที่ ต.โพนสูง มีพื้นที่กว้างกว่า 100 ตร.กม. แต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกัน ที่ประชุมคณะกรรมการในระดับอำเภอและทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จึงประสานมาว่าจะมีวิธีใดช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้านในการมาฉีดวัคซีน เพราะผู้สูงอายุบางคนไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ลูกหลานออกไปทำงานนอกพื้นที่หมด ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง อีกประการคือจะได้อำนวยความสะดวกโรงพยาบาลไม่ลำบากในการจัดที่จอดรถด้วย

 

เมื่อได้รับโจทย์เช่นนี้ ตนจึงเสนอโครงการดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพของตำบลและได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว ซึ่งรายละเอียดโครงการนี้ ทางโรงพยาบาลจะแจ้งรายชื่อกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนแต่ละรอบมาให้ทาง รพ.สต. แล้ว รพ.สต.ประสานกับ อบต. ในการจัดหารถสองแถวพร้อมอาหารและเครื่องดื่มมารับตัวกลุ่มเป้าหมายไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล โดยจะมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ทำการตรวจคัดกรองก่อนขึ้นรถและช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อไปถึงโรงพยาบาล

 

"ขณะนี้มีการฉีดไปรอบแรกแล้วเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 32 คนจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลซึ่งเคยเป็นพื้นที่สีแดงเพราะมีผู้ติดเชื้อ 2 มารอบ ส่วนกลุ่มที่เหลือขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมอยู่ โดยเป้าหมายการรับส่งตัวไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลของทั้งตำบลจะอยู่ที่ 3,000 คน ซึ่งแต่ละรอบทางโรงพยาบาลจะกำหนดเป้าหมายมาให้ว่าเป็นกลุ่มใด จำนวนเท่าใด ทาง อบต.ก็จะประสานจ้างรถรับส่งมาเป็นรายครั้ง ถ้ามีจำนวนมากก็จ้างหลายคัน"นางปณิธี กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากตำบลโพนสูงแล้ว อีกหลายตำบลใน อ.ด่านซ้าย ก็กำลังทำโครงการในลักษณะนี้เช่นกัน

ด้าน ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 อุดรธานี กล่าวว่า ในพื้นที่เขต 8 มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่อยู่ประมาณ 800-900 ตำบล ซึ่ง สปสช.ก็ได้สื่อสารไปว่าสามารถใช้เงินกองทุนลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่มาช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ และเนื่องจากวัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นว่าต้องฉีดในสถานที่ปลอดภัย หมายความว่าจะไม่ฉีดในหมู่บ้านหรือในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ต้องจัดหน่วยฉีด บางที่ฉีดในโรงพยาบาล บางที่จัดในหอประชุม เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการขนคนเข้ามาจากพื้นที่ ทาง สปสช.จึงใช้กองทุนนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอยู่แล้ว ให้ อบต.หลายๆแห่งนำเงินมาจัดโครงการเพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้

 

"ลองนึกภาพว่าอำเภอหนึ่งมี 20-30 ตำบล บางพื้นที่ก็ห่างจากตัวโรงพยาบาล บางที 20-30 กม. แล้วบางครั้งก็ไม่มีรถประจำทาง ผู้สูงอายุหลายคนอยู่บ้านแต่ลูกหลานออกไปทำงานนอกพื้นที่ ถ้าให้มาเองก็ไม่รู้จะมายังไง ก็เป็นการจัดการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. จัดรถให้คนมาฉีด นักหมายกับโรงพยาบาลว่าหมู่บ้านนี้ ตำบลนี้ฉีดวันไหน พอมีงบจากกองทุนนี้ก็สะดวกขึ้นและ สปสช.ก็สนับสนุนอยู่แล้ว ใช้เงินที่มีในกองทุนมาทำได้เลย ตอนนี้เราสื่อสารลงไปและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละที่ก็เริ่มทำกันแล้ว" ทพ.กวี กล่าว