โฆษก ศบค.เผยรายละเอียดคลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวัง 50 แห่ง แบ่งเป็น “เฝ้าระวังสูงสุด -เฝ้าระวัง” ล่าสุดพบคลัสเตอร์ใหม่อีก 2 เขต “บางซื่อ-ราชเทวี” ส่วนต่างจังหวัดพบคลัสเตอร์ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่ม!
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงโควิดกรุงเทพมหานคร ว่า จากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19กทม.ได้มีการนำคลัสเตอร์ต่างๆมาจำแนกแยกแยะและวางแผนการทำงนในแต่ละเขต ซึ่งก็มีภาพสะท้อนอยากให้มีการลงรายละเอียดสถานที่พบผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งสำนักอนามัย กทม. ได้มีการนำเสนอในที่ประชุม โดยขอยืนยันว่าไม่ได้มีการปิดบังในพื้นที่ ที่ผ่านมาอาจมีคำว่าสถานที่แห่งหนึ่ง แต่ขณะนี้จะมีรายละเอียด โดยตนขอไม่เอ่ยนาม แต่จะมีการเผยแพร่รายละเอียดตามตารางที่แสดงให้เห็น
“โดยพื้นที่กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุดจะมี บางกะปิ คลองเตย ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก ดินแดง ห้วยขวาง สัมพันธวงศ์ บางกอกน้อย ราชเทวี พระนคร ปทุมวัน ทุ่งครุ บางแค ลาดพร้าว คลองสาน สวนหลวง ยานนาวา มีนบุรี วัฒนา คลองสามวา บางนา และสาธร ส่วนกลุ่มเฝ้าระวัง มีบางเขน บางซื่อ ประเวศ หลักสี่ สาธร ดอนเมือง บางคอแหลม หนองจอก และพื้นที่พบใหม่ มีบางซื่อ เป็นแคมป์คนงาน และราชเทวี ซึ่งรายละเอียดสถานที่ใดจะปรากฎในตารางนี้ และขออนุญาตส่งข้อมูลนี้ให้ประชาชน ผู้ประกอบการ เขตต่างๆในกทม. เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันไปสู่การเฝ้าระวัง” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องย้ำว่าเชื้อโรคไม่ได้อยู่ในสถานที่ แต่อยู่ในบุคคล หากบุคคลย้ายจากสถานที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งก็จะเป็นการแพร่เชื้อได้ แต่ที่ระบุสถานที่เป็นการบอกถึงว่า มีความชุกชุมของคนที่อยู่ในกลุ่มตรงนั้น ที่ไปตรวจแล้วเจอ แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ตรงนั้นไม่ปลอดภัย เพราะเมื่ออากาศถ่ายเท มีการนำคนป่วยออกมาแล้วก็ถือว่าปกติ เพียงแต่ให้ทราบว่า ที่บริเวณนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคอยู่ จึงมีความจำเป็นให้พี่น้องประชาชนในระแวกนั้นได้รับข้อมูลอย่างใกล้ชิด และก่อประโยชน์ได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าทางท่านผอ.ศปก.ศบค. ได้เน้นย้ำว่า ขณะนี้มอบให้ท่านรองปลัดกทม. ซึ่งมีหลายท่านช่วยดูแลเป็นกลุ่มเขตทั้งหมด 50 เขต รองปลัดกทม.รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลพื้นที่ จะเป็นหัวหน้าทีมในการควบคุมโรคผ่านผอ.สำนักงานเขตทั้งหลาย ซึ่งจะมีการประชุมอย่างใกล้ชิดและรายงานข้อมูลโดยตรงต่อศปก.ศบค.ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนต่างจังหวัดนั้น ขณะนี้มีคลัสเตอร์ใหม่ คือ จ.เพชรบุรี เขาย้อย มีโรงงานรองเท้า จ.สมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์เป็นโรงงานอะลูมิเนียม นอกจากนี้ ยังพบที่จ.ฉะเชิงเทราเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์ทันตกรรม ซึ่งจะเห็นว่ามีโรงงานผลิตถุงมือ โรงงานผลิตอุปกรณ์ทันตกรรม หลายโรงงานที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ จึงต้องให้ความสำคัญ เพราะเขาเป็นแหล่งซัพพลายด์อุปกรณ์ควบคุมโรคโควิด ดังนั้น มาตรการจังหวัดต้องให้ความสำคัญตรงนี้มาก เพราะจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหยุดชะงักเครื่องมือการแพทย์ต่างๆ จึงขอให้แต่ละพื้นที่รับทราบตรงนี้ การปิดดำเนินการไม่ได้เป็นคำตอบ แต่การทำ “บับเบิล แอนด์ ซีล” ก็จะช่วยได้ โดยจำกัดพื้นที่แต่ให้รันทำงานต่อไป ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากกรณีจ.สมุทรสาครที่ผ่านมา เพราะยังมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคออกนอกพื้นที่อยู่เช่นเดิม
- 31 views