ศบค.เผยสถานการณ์โควิดติดเชื้อรายใหม่ 2,101 ราย เสียชีวิต 17 ราย ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อระลอกใหม่ เม.ย. 512 ราย ส่วนใหญ่มีอาการ 56% ไม่มีอาการ 35% พบเป็นพยาบาลมากสุด 34% ไม่ระบุ 27% อื่นๆ 18% แพทย์ 10% ทันตแพทย์ 5% อยู่ใน รพ.รัฐ มากที่สุด กระจาย 57 จังหวัด สูงสุด คือ กทม.
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประจำวัน ว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 158.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 7.83 แสนราย เสียชีวิตสะสม 3.29 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นราย อินเดียยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ 409,300 ราย สะสม 22.29 ล้านราย
ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,101 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังใน รพ. 1,674 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 412 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย หายเพิ่มขึ้น 2,186 ราย เสียชีวิต 17 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 83,375 ราย หายป่วยสะสม 53,605 ราย เสียชีวิตสะสม 399 ราย สำหรับระลอกใหม่ตั้งแต่ เม.ย.มีผู้ติดเชื้อสะสม 54,512 ราย หายสะสม 26,179 ราย เสียชีวิตสะสม 305 ราย วันนี้คนหายมากกว่าป่วยอีกวันหนึ่ง ทำให้ยังอยู่ระหว่างรักษา 29,371 ราย โดยอยู่ใน รพ. 20,477 ราย และ รพ.สนาม 8,894 ราย มีอาการหนัก 1,442 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 394 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้ความเสี่ยงจากสถานบันเทิงกลายเป็น 0 ไปแล้วใน กทม. แต่เข้ามาสู่ตลาด ชุมชน ขนส่ง ในกทม. 31 ราย ปริมณฑล 28 ราย และจังหวัดอื่นๆ 15 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน กทม. 193 ราย ปริมณฑล 347 ราย จังหวัดอื่นๆ 362 ราย และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ในครอบครัว เป็นต้น กทม. 756 ราย ปริมณฑล 98 ราย และจังหวัดอื่นๆ 250 ราย นี่คือภาพสะท้อนของความใกล้ตัวของคนติดเชื้อมาอยู่ในครอบครัวแล้ว
สำหรัยผู้เสียชีวิต 17 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 9 ราย อายุตั้งแต่ 34-99 ปี ค่ากลาง 68 ปี มีต่างชาติ 1 ราย โดยอยู่ใน กทม. 8 ราย สมุทรปราการ 5 ราย ปทุมธานี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา แพร่ และชัยนาท จังหวัดละ 1 ราย ความเสี่ยงมาจากความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง เป็นอันดับต้นๆ เหมือนทุกวัน ที่เพิ่มขึ้นมาก็มีลมชัก ตับแข็ง ส่วนปัจจัยเสี่ยงการสัมผัสโรค คือ ครอบครัวอันดับ 1 กับการติดเชื้อจากผู้ป่วยยืนยัน ตรงนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย เสียชีวิตด้วยเป็นทันตแพทย์ มีโรคประจำตัว ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคของเก่าที่เกี่ยวกับปอด ทำให้ต้องเสียชีวิตไป
"วันนี้ที่ประชุมอีโอซีของกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดถึงลักษณะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ป่วยเจ็บจากโรคนี้ เราให้ความสำคัญเพราะเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับโรค พอป่วย 1 คน มีผู้สัมผัสต้องถูกกักตัว จึงไปหาสาเหตุของการป่วย พบว่า วันที่ 1 เม.ย. - 7 พ.ค. มีทั้งหมด 512 ราย อายุเฉลี่ย 33.37 ปี เป็นหญิง 3.1 :ชาย 1 คน ส่วนใหญ่มีอาการ 285 รายคิดเป็น 56% ไม่มีอาการ 181 ราย คิดเป็น 35% ซึ่งระลอกใหม่ส่วนใหญ่มีอาการมากกว่า" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า บุคลากรที่ติดเชื้อพบว่าเป็นพยาบาลมากสุด 34% ไม่ระบุ 27% อื่นๆ 18% แพทย์ 10% ทันตแพทย์ 5% เป็นต้น ลักษณะของหน่วยงาน เป็น รพ.รัฐ 65% รพ.เอกชน 29% คลินิก 2% ASQ 2% ศูนย์ฟื้นฟู 1% กระจายถึง 57 จังหวัด สูงสุด คือ กทม. 137 ราย ตรัง 47 ราย ชลบุรี 34 ราย นครปฐม 25 ราย ขอนแก่น 18 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 17 ราย ปทุมธานี สงขลา อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 16 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงมาจากภายใน รพ. 265 ราย คือ สัมผัสหรือให้การรักษาผู้ป่วยยืนยันขณะทำงาน 202 ราย สัมผัสเพื่อนร่วมงานใน รพ. 63 ราย ภายนอก รพ. สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือไปสถานที่เสี่ยง 106 ราย กำลังสอบสวน 141 ราย ทั้งนี้ การไม่ได้แจ้งบอกความเสี่ยงทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการรักษาและกักตัวด้วย
- 63 views