นพ.โสภณ เมฆธน เชื่อว่าอาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ดังนั้นภายใต้การจัดหาวัคซีนที่ได้มาในขณะนี้ จึงต้องเร่งฉีดเข็มแรกให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากที่สุดเนื่องจากประสบการณ์จากต่างประเทศพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการลดการป่วยหนัก การตาย และลดการแพร่กระจายของโรคได้
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยืนยันว่า วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “แผนการจัดสรรวัคซีน COVID-19” เวทีเสวนาออนไลน์ Virtual Policy Forum "นับถอยหลัง 16 ล้านคน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง" ซึ่งร่วมจัดโดยสำนักข่าว Hfocus สำนักข่าว The Reporter ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.โสภณ เปิดเผยถึงแผนการการจัดหาวัคซีนว่า ขณะนี้มีวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2.5 ล้านโดส และจะได้เพิ่มอีก รวมแล้วในเดือนพ.ค.นี้จะมีวัคซีนซิโนแวคจำนวน 3.5 ล้านโดส และมีการเจรจาซื้อเพิ่มในเดือนถัดไป ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนากาซึ่งเป็นวัคซีนหลัก ตามแผนในเดือนมิ.ย.จะได้รับจำนวน 6 ล้านโดส และในเดือนก.ค.อีก 10 ล้านโดสและได้รับอีกเดือนละ 10 ล้านจนถึงเดือนธ.ค. รวมทั้งหมด 61 ล้านโดส ส่วนวัคซีนทางเลือก เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสันซึ่งฉีดเข็มเดียว สปุตนิก วี 5 ของรัสเซีย โดยวัคซีนทางเลือกนี้หอการค้าแห่งประเทศไทยจะช่วยเจรจาหรือแม้แต่จะบริจาค หอการค้าสนใจวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่เจรจาแล้วได้ประมาณไตรมาส 4 ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่
สำหรับการกระจายวัคซีน นพ.โสภณเปิดเผยว่า จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ตามกลุ่มอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง ฉีดแอสตร้าเซเนก้าที่จะเข้ามาในเดือนมิ.ย.-ก.ค. 16 ล้านโดส โดยกลุ่มโรคเรื้อรัง 4.6 ล้านคน กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.5 ล้านคน รวมแล้วประมาณ 16 ล้านคนพอกับวัคซีนที่ได้มา ส่วนที่เหลืออีก 32 ล้านคน รวมคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศเข้าไปด้วย ก็จะประมาณ 50 ล้านคนพอดี
กลุ่มที่ 2 คือ ตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งกลุ่มที่รณรงค์ฉีดไปแล้วคือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะพยายามให้ครบตามเป้าหมาย 7 แสนคนภายในเดือนพ.ค.นี้ กลุ่มบริการด้านหน้า เช่นทหาร ตำรวจที่อยู่ชายแดน หรือผู้ทำงานใน Hospital ต่างๆ หรือผู้ที่ต้องสัมผัสกับโรคโควิด และกลุ่มบริการสาธารณะ ครู พนักงานขับรถ พนักงานอากาศยาน เรือ คนส่งอาหารตามบ้าน ผู้ค้าตลาดสด และกลุ่มที่ 3 คือพื้นที่โรคระบาด เช่นขณะนี้คือ กทม. ปริมณฑล เชียงใหม่ ชลบุรี และพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งจะคงไม่รอจนโรคสงบ เช่น จ.ภูเก็ต เกาะสมุย หรือ จ.เชียงใหม่ ชลบุรี กระบี่ พังงา
“ขณะนี้ในระบบมีวัคซีน 16 ล้านโดส กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มโรคเรื้อรังก็ให้จองในระบบหมอพร้อมขณะนี้จองเข้ามาแล้วประมาณ 1.6 ล้านคน มั่นใจว่าวัคซีนที่จะได้มาคงใช้ไม่หมด 16 ล้านคน ส่วนที่เหลือก็ต้องลงในพื้นที่เช่นอาจจะแบ่งให้ กทม.หรือปริมาณฑล ซึ่งต้องดูอีกว่าจะให้พื้นที่ใด เช่นขณะนี้กทม.ฉีดที่คลองเตยหรือบางแค ซึ่งอาจพิจารณาลงไปอีกว่าในพื้นที่นั้นจะฉีดให้กับกลุ่มอาชีพอะไร เพื่อให้ครอบคลุม 60-70 % ในชุมชนนั้น หรือมองภาพรวมในกทม.อาจเป็นกลุ่มอาชีพเช่นครูในกทม.ทั้งหมด คนขับรถบริการสาธารณะ ขสมก. แท็กซี่” นพ.โสภณ อธิบายถึงการกระจายวัคซีน
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มโรคเรื้อรัง เป็นการพิจารณาจากวัตถุประสงค์การฉีดวัคซีน 3 คือ 1.ปกป้องไม่ให้ป่วย ไม่ให้ตาย ซึ่งวัคซีนมีประสิทธิภาพดีในการลดการเสียชีวิตและลดการเจ็บป่วยหนัก 2.คงระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งฉีดบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้ว เพื่อให้ไม่ป่วยและให้บริการประชาชนได้ โดยวัคซีนสามารถลดการแพร่โรคได้ด้วย เพราะฉะนั้นกลุ่มบริการสาธารณะถ้าได้รับวัคซีนก็ลดการแพร่โรคได้
"วัคซีนมีประสิทธิภาพในการไม่ให้เสียชีวิต ไม่ให้ป่วยหนัก ตอนนี้เราฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง อสม. เพื่อที่เขาจะได้ไม่ป่วยและสามารถให้บริการพี่น้องประชาชนได้ วัคซีนลดการแพร่เชื้อด้วย สุดท้ายข้อ 3 คือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ เช่น จ.ภูเก็ต นโยบายรัฐบาลคือต้องการเปิดภายในเดือนก.ค. ดังนั้นในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ภูเก็ตก็ต้องได้รับวัคซีนไปเพียงพอ ขณะที่ จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ พื้นที่สีแดงเข้มถ้าได้วัคซีนเพียงพอก็จะช่วยเรื่องการควบคุมโรคเพราะเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม และช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้านระบบให้บริการฉีดวัคซีน นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาล 1,200 แห่งทั้งรัฐและเอกชน หากฉีดได้แห่งละ 300 คนต่อวัน 1 วันก็สามารถฉีดได้ 360,000 คน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนดว่าต้องฉีดให้ได้วันละ 500,000 คน จึงต้องใช้ระบบที่ 2 คือฉีดนอกโรงพยาบาลทั้งห้าง ศูนย์การค้า ส่วนที่ 3 คือหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุก เช่นตลาดสดบางแคที่กทม.ไปฉีด หรือตามวัดต่างๆ อนาคตคงมีการเข้าไปฉีดในโรงงานต่างๆ มั่นใจได้ว่าระบบบริการการฉีดไม่น่าจะมีปัญหาที่จะฉีดให้ได้เดือนละ 10 -15 ล้านคน
อย่างไรก็ตามนพ.โสภณกังวลว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีน ถ้าระบบบบริการดีเตรียมวัคซีนไว้ 100 ล้านโดส แต่ประชาชนมาฉีดไม่กี่สิบล้านคน ก็ไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ข้อมูลที่พบเช่นแอสตร้าเซเนก้าสามารถฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ การได้ฉีดแม้เพียงเข็มเดียวก็จะมีประสิทธิภาพในการจะช่วยลดการแพร่โรคได้ 50 %
“เดือนมิ.ย. นี้มีวัคซีนเท่าไหร่ก็จะฉีดเข็ม 1 ให้เต็มที่เลยเพื่อครอบคลุมประชาชนให้ได้ ประสบการณ์ในอังกฤษ อเมริกา แม้ครอบคลุม 30 % ก็ลดจำนวนการป่วยการตายได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเร่งรัดอย่างรวดเร็ว ต้องทำให้ประชาชนหมดความกังวลเข้ามารับบริการให้มากที่สุด และหากได้วัคซีนไฟเซอร์มาก็สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายการฉีดไปยังกลุ่มอายุ 12 – 18 ได้ด้วย เพราะวัคซีนที่ได้มาขณะนี้ยังฉีดกลุ่มนี้ไม่ได้” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า หากประชาชนยังลังเลที่จะจองฉีดวัคซีนเพราะรอวัคซีนทางเลือกจากผู้ผลิตรายอื่นๆ นอกเหนือจากที่นำเข้ามาในขณะนี้ ประเด็นสำคัญคือต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า ยังไม่มีความแน่นอนว่าวัคซีนจะเข้ามาเมื่อไหร่ แต่เมื่อเป็นโรคมีโอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิต ถ้ามีโอกาสฉีดก็ควรฉีด ส่วนอยากได้ยี่ห้อไหนรอปีหน้าก็ได้ เพราะมั่นใจว่าต้องมีเข็ม 3 แน่ รวมทั้งยังต้องดูด้วยว่าฉีดยี่ห้อหนึ่งไปแล้วสามารถเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ได้หรือไม่ แต่วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด ข้อมูลจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ในช่วงแรกๆ ที่มีผู้ป่วยมากก็ให้วัคซีนไปในพื้นที่ ขณะนี้ฉีดครอบคลุมประชากรไปได้ 27 % สามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้
“จากโพลที่ออกมาประชาชนทั่วไปต้องการฉีด 40-50 % จึงต้องกระตุ้นให้อยากฉีดมากขึ้น สร้างความเข้าใจและทำให้เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นเช่นระบบการจอง การเอาวัคซีนไปหาประชาชนเชิงรุก หรือเข้ามาฉีดในโรงพยาบาลอย่างไรให้ง่ายที่สุด เคยสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดรอบแรก อยากฉีด 55 % มั่นใจฉีดแน่ อีก 35 % ยังลังเล ขอดูคนอื่นฉีดก่อนอาจจะขอดูยี่ห้อวัคซีนด้วย แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป หมอขอเรียกร้องขอฉีด ความต้องการฉีดจึงขึ้น ๆ ลง ๆ ประชาชนก็เช่นกัน ถ้าได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด ปกป้องตัวเองและดูแลคนที่รักในครอบครัวลดการแพร่โรคไปถึงลูกเพราะลูกยังฉีดวัคซีนโควิดไม่ได้” นพ.โสภณ กล่าว
นายสาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ รองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเสวนาเดียวกันนี้ว่า การฉีดวัคซีนโควิดคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของโลกและประเทศไทยด้วย แต่ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับวัคซีน ทำให้อาจเกิดความเข้าใจผิด เช่นอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ในการฉีดวัคซีนซิโนแวค จนทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งคณะฝ่ายวิชาการติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์เพื่อหาข้อสรุปให้ข้อมูลกับประชาชนให้มากที่สุด
รมต.สธ. กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิดในประเทศไทยขณะนี้รุนแรงมากและยังจะไม่จบอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กทม.อีกเป็นจำนวนมาก การตรวจเชิงรุกมากเท่าไร ปูพรมฉีดวัคซีนมากเท่าไรจะเป็นการแก้ไขสถานการณ์ ถ้าสามารถนำผู้ที่มีความสัมผัสเสี่ยงสูงไปกักตัวได้ตามเกณฑ์ควบคุมโรคก็จะเบาใจได้ ส่วนที่ 2 มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันการพบปะของผู้คนตัดวงจรการแพร่ระบาด ถ้ามาตรการดีประชาชนเชื่อฟังการควบคุมจะทำได้ง่ายขึ้น
"ส่วนที่ 3 ภาคีการทำงานสอบสวนโรค ควบคุมโรคเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ส่วนนี้เป็นเรื่องของ สธ. เป็นหลักและกระทรวงมหาดไทยพบผู้ติดเชื้อตรงไหน การสอบสวนโรคต้องทำให้ทันภายใน 24 ชั่วโมง ประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการบอกไทม์ไลน์ บอกได้ว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นใคร ต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เราผ่าน 2 รอบมา เจ้าหน้าที่ กำนัน อสม. ผู้ใหญ่บ้านมีประสบการณ์เพียงพอ และส่วนที่ 4 รองรับทั้ง 3 ส่วน ถ้าทั้ง 3 ส่วนไม่สำเร็จมันจะมาระเบิดในส่วนที่ 4 เหมือนที่กำลังเจออยู่ขณะนี้ ยกตัวอย่างช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าคนจะกลัว คนจะยกเลิกการเดินทาง แต่คนเดินทางเต็มไปหมด และนี่คือผลกระทบที่เกิดจากสงกรานต์เดินทาง เกิดจากคลัสเตอร์บันเทิงด้วยเช่นกันที่ทำให้เกิดการระบาด สุดท้ายมันมาระเบิดที่กล่องรักษา ต่อให้มีหมอเยอะแต่ถ้าเคสเป็นหมื่นต่อวันก็ไม่มีทางรองรับได้" นายสาธิต กล่าว
- 23 views