“หมอธีระวัฒน์” ตอบคำถามข้อกังวล วัคซีนโควิด “ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา” กรณีผลข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์ แม้มีพบแต่รักษาได้ ประโยชน์มากกว่า และควรเร่งฉีดให้เร็วครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ
ขณะนี้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าตามแผนการบริการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้แก่ประชาชนไทย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ใน 5 กลุ่ม โดยระยะแรกเริ่มแล้วในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 1.2 ล้านคน และบุคลากรอื่นๆ ด่านหน้าอีก 1.8 ล้านคน ซึ่งสองกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนครบถ้วนในเดือน พ.ค.นี้
ส่วนระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวม 4.3 ล้านคน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วน และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และกลุ่มสุดท้ายระยะที่ 3 เป็นประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน จะเริ่มเปิดจองฉีดวัคซีนวันที่ 1 ก.ค. และเริ่มฉีดวัคซีนส.ค. 2564
แน่นอนว่า คำถามหนึ่งที่มีมาตลอดคือ วัคซีนโควิด19 ทั้งของซิโนแวค และแอสตราเซเนกา มีความปลอดภัย หรือมีอาการข้างเคียงหรือไม่อย่างไร และหากมีแล้วมีมากน้อยแค่ไหน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้มีคนกังวลเรื่องนี้จริง แต่ต้องย้ำว่า อย่างไรก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีน แม้จะมีอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงบ้าง แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่คนไทยทุกคนจะได้รับ เนื่องจากขณะนี้ทางการแพทย์เราทราบกลไกผลข้างเคียงและการรักษา สามารถรักษาได้ อย่างกรณีของวัคซีน “ซิโนแวค” ที่มีแนวทางของกองระบาดระบุว่า ให้พิจารณาในส่วนของอาการ ISRR หรือ imminozation stress related reaction ที่เป็นปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีนค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้มีส่วนจริง แต่ต้องไม่ลืมวินิจฉัยอาการที่เป็นภาวะจริงที่มีผลต่อระบบประสาทด้วย และต้องการการดูแลรวมทั้งการติดต่อกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต
“ผู้เชี่ยวชาญที่ลำปางถึงกับต้อง ทำ การสอดสายแล้วฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมอง angiogram และให้ยาขยายหลอดเลือดเฉพาะที่ หรือที่ระยอง และทางโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชาใช้ thrombolysis 6 ราย ซึ่งแสดงชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์ของ stroke ภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติเฉียบพลัน และที่สุรินทร์ อีก 17 ราย อาการเป็นปวดศีรษะและชาครึ่งซึก รวมทั่งที่ อุบล และที่ขอนแก่นเป็นแขนขาอ่อนแรงค่อนข้างมาก ทั้งนี้ที่โรงพยาบาลสุรินทร์นั้นพบว่าในกรณีของผู้หญิงซึ่งส่วนมากอายุน้อยทั้งสิ้นอาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระยะที่มีประจำเดือนและภายในช่วงก่อนและหลังที่มีประจำเดือนประมาณ 7 วัน ดังนั้น กรณีวัคซีนซิโนแวค ควรหลีกเลี่ยงในผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน เพราะอาจมีส่วนจากฮอร์โมนได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
แต่ทั้งหมดของผู้ได้รับผลแทรกซ้อนเหล่านี้อยู่ในมือของ ผู้เชี่ยวชาญทางสมองneurologist ทั้งสิ้นในการให้การวินิจฉัยการติดตามและการรักษา ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดหลังจากฉีด 24 ชั่วโมง สำหรับอาการชาหรือจี๊ดๆปาก หน้า และ แขนข้างเดียวกันเดียวกัน หรือครึ่งซีกของร่างกาย และเมื่อได้รับยาขยายเส้นเลือดในปริมาณน้อย มีอาการปวดหัวหลังจากทาน 2 นาทีเป็นอยู่ 5 นาทีจากการที่เส้นเลือดขยายตัวจากยา แต่อาการชาดีขึ้นอย่างชัดเจนน่าจะเป็นไปได้ที่ใช้ยาขยายหลอดเลือดในปริมาณน้อยที่สุดเวลาที่มีอาการทุก 12 ชั่วโมง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของวัคซีนเชื้อตายชิโนแวค ซึ่งในกรณีของ แอสตราเซเนกา นั้น มักเกิดผลข้างเคียงในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่ออกมาในรูปของลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำและแดงในตำแหน่งที่ไม่พบบ่อยเช่นในท้องและในสมองแต่รักษาได้
“ดังนั้น แม้จะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เป็นอาการที่รักษาได้ และเมื่อเทียบกับประโยชน์ย่อมมีมากกว่า จึงจำเป็นต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนโควิดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
- 258 views