เลขาธิการ สปสช. เผยอยู่ระหว่างหารือสำนักงบประมาณขอไม่หักงบบัตรทองไปใช้เป็นเงินเดือนขรก.สธ.ตั้งใหม่ช่วงโควิด19 เหตุปกติหักงบเงินเดือนอยู่แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท หากหักต้องเพิ่มอีกกว่า 3 พันล้านบาท เร่งหารือทางออกหางบส่วนอื่นแทน
ตามที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ. ขอให้ดำเนินการยุติการนำเงินเดือนส่วนเพิ่มกรณีการบรรจุข้าราชการตั้งใหม่จากสถานการณ์โควิด19 โดยมาตัดงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่า จะหักงบประมาณของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบบัตรทองไปใช้เป็นเงินเดือนของข้าราชการตั้งใหม่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เนื่องจากทางสปสช. กำลังหารือกับทางสำนักงบประมาณ เพื่อขอให้แยกหรือจัดสรรงบประมาณต่างหาก ไม่รวมกับงบประมาณบัตรทอง
“ปกติในแต่ละปีงบกองทุนหลักประกันฯ จะมีงบค่าแรงหรือเงินเดือนของบุคลากรข้าราชการประจำประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท แต่เมื่อมีข้าราชการตั้งใหม่จะมีงบส่วนเงินเดือนเพิ่มอีกประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท หากมารวมอีกก็จะทำให้ต้องหักงบจากบัตรทอง ซึ่งทางสปสช.กำลังหารือว่า ขอให้แยกส่วนข้าราชการตั้งใหม่ได้หรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้สรุปว่า มีการหักงบจากบัตรทองไปแล้วแต่อย่างใด” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
( อ่านข่าวเพิ่มเติม : ชมรมแพทย์ชนบทส่งจม ถึง "อนุทิน" ยุติตัดงบบัตรทองโปะเงินเดือนบรรจุขรก.ใหม่ยุคโควิด )
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ภายในวงเงิน 198,891.789 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยในส่วนงบประมาณบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 2,203.108 ล้านบาท ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณบัตรทองปี 65 ได้กำหนดรายการบริการภายใต้งบกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีจำนวน 11 รายการ ประกอบด้วย 1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 2. ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ แบ่งเป็น ค่าบริการรักษาฯ และ ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
4. ค่าบริการเพื่อควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง แบ่งเป็น ค่าบริการเพื่อควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง และ ค่าบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
6. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน 7. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว (ทีม PHC) แบ่งเป็น ค่าบริการด้วยทีม PHC ค่าบริการรับยาที่ร้านยา ค่าบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล ค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล และค่าบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน 8. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับ อปท. 9. ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด-19 10. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 11. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
- 69 views