"อนุทิน" เผยพร้อมฉีดวัคซีนโควิดแอสตราฯ 16 มี.ค. ให้พล.อ.ประยุทธ์ - ครม. เตรียมเดินหน้าเจรจาหาวัคซีนเพิ่ม ด้าน “อย.” เผยล่าสุดผู้แทนบ. คินเจนหารือ อย.เรื่องนำเข้าวัคซีนสปุตนิก 5 แต่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารใดๆ
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้ได้รับการยืนยันจากทีมแพทย์แล้วว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกามีความปลอดภัย ปัญหาลิ่มเลือดอุดตันไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อย่างใด ซึ่งช่วงบ่ายวันนี้ (15 มี.ค.) จะมีการหารือกันของคณะกรรมการวิชาการ และในวันที่ 16 มี.ค. นี้จะเดินหน้าฉีดวัคซีนทั่วประเทศตามแผน
โดยการฉีดให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรีที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปแบบสมัครใจ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ดำเนินการฉีดให้กับนายกรัฐมนตรี โดยศ.นพ.ยง พร้อมด้วยอาจารย์แพทย์ก็จะร่วมกันฉีดด้วย
ทั้งนี้ เหตุที่ต้องไปฉีดวัคซีนให้ที่ทำเนียบรัฐบาลเนื่องจากเกรงว่าหากให้มาที่โรงพยาบาลบําราศนราดูรจะเป็นการรบกวนประชาชนคนอื่น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีที่เดินทางมานั้นจะต้องมีทีมผู้ติดตามเข้ามาอีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การดูแลจะใช้ห้องรับรอง 1 แห่งสำหรับสังเกตอาการ พร้อมเตรียมอะดรีนาลีน พร้อมอุปกรณ์การช่วยชีวิตเอาไว้รองรับ ขณะเดียวกันก็มีรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูงไว้รองรับ และจัดให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นสถานพยาบาลรับส่งต่อด้วย
“การฉีดวัคซีนอยากเป็นการดำเนินการตามปกติ ผมไม่อยากจะพูดว่าใครจะฉีดก่อน หรือท่านนายกฯ จะเป็นคนฉีดวัคซีนเป็นคนแรกหรือไม่ เพราะถ้าเกิดถึงตอนเช้าท่านนายกฯ มีอาการไอ เจ็บ คอ หรือไม่สบาย อาจจะฉีดไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าท่านไม่ได้ฉีดแล้ววัคซีนจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งไม่มี และที่ผ่านมาท่านนายกฯ ก็แสดงเจตจำนงว่าจะฉีดมาตลอด เพราะฉะนั้นพรุ่งนี้ก็ฉีดตามปกติพร้อมกันในกลุ่มเป้าหมาย”นายอนุทิน กล่าว และว่า ขอให้ประชาชนในคณะกรรมการที่ได้จัดหาวัคซีนมา
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับว่าเป็นงานช้างยิ่งกว่าช้าง เพราะมีการฉีดในจำนวนมากหลายสืบล้านโดส ซึ่งไม่เคยฉีดมากขนาดนี้มาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่สุด วันนี้เรามีวัคซีนถือว่าเพียงพอ เป็นของซิโนแวคที่จะเข้ามาอีก 8 แสนโดส รวมถึงของแอสตร้าฯ อีก 117,300 โดส อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ ไม่ได้นอกจากนี้ระหว่างนี้ทางรัฐบาลก็พยายามเจรจาอีก 5 ล้านโดส กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทุกรายที่มีความเหมาะสม รับได้ และจะสามารถนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนนี้ และคาดว่าในส่วนของภาคเอกชนนั้นในอีกไม่กี่เดือนก็น่าจะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น เมื่อประเทศต้นทางผู้ผลิตวัคซีนมีการผ่อนคลายหรือผ่อนคลายการใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมให้ความร่วมมือในการพิจารณานำเข้ามาอยู่แล้ว
ด้านนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ความคืบหน้าบริษัทเอกชนมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยื่นเอกสารเข้ามาครบหมดแล้ว จะพิจารณาตัดสินภายในเดือนมี.ค.นี้ ส่วนบริษัท บารัต ไบโอเทค ของประเทศอินเดียนั้นขณะนี้ยังส่งเอกสารมาไม่ครบ เหลือเอกสารทางคลินิก และและด้านคุณภาพบางส่วน ซึ่งทราบว่าอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้แทนบริษัทคิน เจน ไบโอเทค จำกัด ได้เข้ามาหารือกับ อย.เรื่องการยื่นขออนุญาตนำเข้าวัคซีนสปุตนิก 5 แต่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเข้ามาแต่อย่างใด ส่วนโมเดอร์นาที่เคยมีข่าวว่าจะมายื่นอย.นั้นก็ยังไม่ได้มายื่นแต่อย่างใด
นางสาวแอน เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ (Chief Medical Officer) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า จากข้อกังวลถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากับภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น ยืนยันวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัยอ้างอิงได้จากข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่ศึกษาทบทวนอย่างละเอียดกับประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 17 ล้านรายในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ไม่พบว่ามีหลักฐานใดชี้ให้เห็นถึงอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก หรือ ภาวะเกล็ดเลือดตํ่า ในกลุ่มอายุ เพศ รุ่นการผลิต หรือไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม ซึ่งจากข้อมูลจนถึงวันที่ 8 มีนาคม
บริษัทฯ ได้รับรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรทั้งหมด 15 รายงาน และรายงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอีก 22 รายงาน เมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้ว ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยรายงานด้านความปลอดภัยประจำเดือนจะมีลงประกาศอยู่ในหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างไรก็ตามภาวะโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ทำให้อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเคสได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทางบริษัทฯ ยังต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้วัคซีน ยิ่งกว่าการเฝ้าระวังตามมาตรฐานความปลอดภัยของยาทั่วไป
- 13 views