กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิง ที่ใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสุขภาพมุ่งสู่เป้าหมายให้เด็กไทยในศตวรรษ ที่ 21 ฉลาด ดี มีทักษะ แข็งแรง
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานงานแถลงข่าวเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ณ โถงอาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมุ่งเน้นส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตเต็มศักยภาพ การเฝ้าระวังและติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้เด็กเติบโตได้ดี คณะกรรมการพัฒนาเกณฑ์อ้างอิง การเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิดถึง 18 ปี และสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้พัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ ที่สามารถสะท้อนภาวะโภชนาการสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก การประเมินภาวะการเจริญเติบโตโดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต จะทำให้ทราบว่าเด็กคนหนึ่งมีภาวะโภชนาการเป็นอย่างไร อ้วน ผอมหรือเตี้ย เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กมีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น การใช้เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต ปี 2538 ที่ใช้อยู่เดิม จะทำให้วิเคราะห์สภาพปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง เด็กสูงตามเกณฑ์มากเกินจริง เด็กเตี้ยน้อยกว่าความเป็นจริง เด็กอ้วนมากเกินจริง และเนื่องจากเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-19 ปี ขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2550 เก็บข้อมูลจากเด็กอเมริกัน จึงไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในปี 2558 คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้จัดทำเกณฑ์อ้างอิง การเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ชุดใหม่ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและประเมินขนาดปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับภาวะโภชนาการในประเทศไทย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยโดย สำนักโภชนาการ ได้ร่วมมือกับศูนย์อนามัย สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 16 จังหวัดที่เป็นตัวแทนของประเทศ ทำการเก็บข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูงและรอบเอว ของเด็กอายุ 4 ปี 6 เดือน ถึง 19 ปี จำนวน 46,587 คน ระหว่าง พ.ศ. 2558 - 2562 จากสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน จัดทำเป็นเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 - 19 ปี ชุดใหม่ และส่งมอบข้อมูลชุดดังกล่าวให้กับภาคีเครือข่ายที่ดูแลสุขภาพของเด็กไทย เพื่อร่วมกันลดปัญหาเด็กอ้วน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 10 ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมาย และเด็กเตี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินร้อยละ 5 สูงกว่าค่าเป้าหมาย โดยเด็กอ้วน มีโอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคตได้ รวมทั้งเด็กที่มีภาวะเตี้ย อาจเนื่องมาจากมีการขาดอาหารเรื้อรังหรือมีการเจ็บป่วยบ่อยส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ และเด็กซีดหมายถึงร่างกายขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะง่าย อาจตัวเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน และสมองทำงานได้ช้าลง ส่งผลให้เรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
“ทั้งนี้ กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ เพื่อดูแลติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพ ให้ถึงเป้าหมายส่วนสูงเฉลี่ยของคนไทยที่อายุ 19 ปี ผู้ชายสูง 175 เซนติเมตร ผู้หญิง 162 เซนติเมตร ในปี 2569 และให้ถึงเป้าหมายท้าทายในอีก 15 ปี ข้างหน้า ปี 2579 ผู้ชายสูง 180 เซนติเมตร ผู้หญิง 170 เซนติเมตร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 7490 views