สสส.-เครือข่ายคนไทยไร้พุง เผยพบคนไทย “อ้วนลงพุง” กว่า 20 ล้านคน เสี่ยงป่วยโรค NCDs ชี้ โรคอ้วนเป็นภัคคุกคามชีวิต จุดเริ่มของสุขภาพแย่ ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดโควิด-19 อาการรุนแรงและเสียชีวิตเกิดปมด้อย เร่งสร้างสังคม “ลดหวาน มัน เค็ม” ตระหนักภัยร้าย “น้ำหนักเกิน” เนื่องใน “วันอ้วนโลก”
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ที่ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนาถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคม เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมจนน้ำหนักเกินและเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ (NCDs :non-communicable diseases)
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบ “คนอ้วน” มากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยในปี 2557 ถึง ปัจจุบัน พบ คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs
“สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) กำหนดให้มีวันอ้วนโลก มีเป้าหมายให้ทุกคนเห็นว่า “น้ำหนักเกิน” เป็นภัยคุกคามชีวิต เพราะ "ความอ้วน” คือ จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดปมด้อย อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า หากทุกคนรู้วิธีป้องกันและดูแลเรื่องอาหารและมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และนักโภชนาการอิสระ กล่าวว่า การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิด “โรคอ้วน” ได้ เพราะ การกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคหวาน มัน เค็มมากเกินไป ใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเกินและส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ส่วนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย สิ่งที่ดีที่สุด คือ กินผัก-ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม มีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ร่างกาย เพระความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย เก๊าท์ ตับแข็ง ฯ หากสังคมสานพลังรักสุขภาพจะช่วยหยุดปัญหาเหล่านี้ได้
รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติดโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรก ๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรก ๆ ที่เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs
พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราสามารถป้องกันไม่ให้อ้วนได้ โดยกินอาหารที่พอเหมาะให้ได้พลังงานเพียงพอกับงานและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน คนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก สามารถเน้นการลดปริมาณอาหารที่กินให้น้อยลงได้ด้วยการเลือกรูปแบบการกินอาหารแบบใดก็ได้ เช่น แบบอาหารคีโต (Keto diet) กินแบบจำกัดเวลาหรืองดอาหารช่วงยาวในแต่ละวัน (Intermittent Fasting, IF) หรืออาหาร 2:1:1 แต่ต้องกินให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้เกิดโทษกับร่างกาย
นางสาวอรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกาย หมายถึง กิจกรรมที่มีการใช้พลังงานในทุกรูปแบบ “ทุกขยับนับหมด” จึงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะเมื่อมีเวลาออกกำลังกาย การมีกิจกรรมทางกายประจำ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดไขมัน ควบคุมน้ำหนัก และป้องกันโรคเรื้อรังได้ เมื่อทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพแข็งแรงและจิตแจ่มใส แนะนำให้คนอ้วนที่เริ่มลดน้ำหนักเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น อาจเริ่มเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย
- 1645 views