“นพ.ยง” ตอบคำถามวัคซีนโควิด19 เป็นโควิดแล้วฉีดได้อีกหรือไม่ กลุ่มอายุไหนฉีดวัคซีนชนิดใด ฉีดพร้อมไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่ อย่างไร พร้อมตอบคำถามประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค-แอสตราเซเนกา
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ว่า การระบาดของโรคครั้งนี้ ถือเป็นการระบาดใหญ่ในรอบ 100 ปี ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดใหญ่เมื่อปี 2461 ซึ่งขณะนั้นใช้เวลา 2 ปีถึงจะสงบ อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งนี้ก็คงจะเป็นไข้หวัดใหญ่สเปน หากไม่ทำอะไรเลยประชากรอาจเสียชีวิตประมาณ 1% และจะใช้เวลา 2 ปีถึงจะสงบ แน่นอนว่า เรายอมรับไม่ได้จึงต้องมีมาตรการต่างๆมากมาย จนสามารถกดการระบาด ให้การสูญเสียน้อยที่สุด และสิ่งที่จะยุติได้คงหนีไม่พ้นวัคซีน เพราะจะทำให้ทุกคนมีภูมิ และเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้ว ตนคิดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีจะมีภูมิ
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ทั่วโลกมีมาตรการต่างๆ และมีวัคซีนตั้งแต่ธ.ค. และมาตอนนี้อุบัติการณ์ของโลกก็เริ่มลดลง จากสูงสุดป่วย 6 แสนคนต่อวัน ตอนนี้ลงมาถึง 3-4 แสนคนต่อวัน ซึ่งก็ลดลงมาแต่ก็ยังดีใจไม่ได้ ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวัคซีนทั่วโลกมีกี่ชนิด อันดับแรกคือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งปัจจุบันมีของไฟเซอร์ และโมเดอนา แต่ติดเรื่องการจัดเก็บรักษาต้องแช่แข็งติดลบ 20-70 องศา การขนส่งจะยากลำบากสำหรับประเทศไทย จึงมีวัคซีนอีกชนิด คือ Virus Vector เป็นการนำเข้าสารพันธุกรรมด้วยไวรัส และทำให้การทำงานต่างๆ ในการสร้างโปรตีนไม่ต่างจาก mRNA ดังนั้น Virus Vector จึงเป็นทางออกเพราะสามารถเก็บรักษาได้ในความเย็น 2-8 องศา ซึ่งก็โชคดีที่ไทยมีวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ด และแอสตราเซเนกา ให้เห็นว่าวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน หากไม่ฉีดก็จะติดโรคเพิ่มขึ้น แต่หากฉีด แม้ป้องกันได้ไม่ 100% ก็ยังป้องกันได้ต่างจากไม่มีเลย และเมื่อป่วยแล้วส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิด อย่างของรัสเซีย ที่เรียกว่า สปุตนิก-วี และยังมีวัคซีนจากจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งฉีดเข็มเดียว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนที่มาเมืองไทยแล้ว คือ ซิโนแวค วัคซีนเชื้อตายที่จะฉีดในวันพรุ่งนี้(28 ก.พ.) โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี โดยป้องกันความรุนแรงของโรค อย่างอาการน้อยที่เรียกว่า เกรด 3 คือ ป่วยแล้วต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แม้จะเป็นผู้ป่วยนอกสามารถป้องกันได้ 78% แต่หากป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารพ. สามารถป้องกันได้ 100% แต่หากป่วยเล็กน้อยตั้งแต่เกรด 2 คือ ติดเชื้อแต่ไม่ต้องดูแลทางการแพทย์ก็จะลดลงเหลือประมาณ 50% จึงถือว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างดี ส่วนที่คำถามว่า เพราะอะไรต้องฉีดอายุ 18-59 ปี ต้องแจงว่า เพราะวัคซีนตัวนี้เป็นตัวใหม่ และการศึกษาระยะที่ 1 ,2 และ 3 ที่ศึกษาในคนมีการศึกษาคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 3% ไม่ถึง 4% ดังนั้น หากให้กับผู้อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปผลในการป้องกันโรคเป็นอย่างไร อาการแทรกซ้อนเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นข้อห้าม แต่ขอให้รอการศึกษาสักนิดนึงประมาณ 1-2 เดือนอาจมีข้อมูลมากขึ้น และค่อยมาปรับอีกครั้ง จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรี อายุเกิน 60 ปีแล้ว จึงต้องรอ เพื่อเป็นไปตามกฎเกณฑ์เป็นหลักก่อน
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า วัคซีนอีกตัวเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงโนวาแวกซ์ (Novavax) จนมีคนเรียกร้องว่าทำไมไม่เอาเข้า จริงๆ วัคซีนตัวนี้เปรียบเทียบเหมือนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โดยการสังเคราะห์โปรตีนจากสิ่งมีชีวิต คือ เซลล์แมลง หรือเซลล์ยุง โดยจะนำมารวมกับตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา ที่เรียกว่า Matrix -M adjuvant ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ โดยได้มาจากสมุนไพรจากพืชชนิดหนึ่งในชิลี จึงต้องเรียนว่า วัคซีนตัวนี้ผลิตในอเมริกา กำลังรอขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในสหรัฐ ขณะนี้ยังไม่ขึ้นทะเบียน จึงต้องรอก่อน ดังนั้น ขณะนี้ไทยมี 2 ตัว คือ ซิโนแวค และแอสตราฯ
“สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 ตัว มีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน โดยป้องกันความรุนแรง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากโรค ดังนั้น หากมีวัคซีนก็จะรีแล็กซ์เพิ่มขึ้น ส่วนที่หลายคนบอกว่าควรฉีดหรือไม่ ผมบอกได้เลยว่า ไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะนอกจากป้องกันตัวเราเองแล้ว ยังป้องกันคนรอบข้างเราด้วย เมื่อป้องกันตัวเรา ป้องกันเขา เมื่อฉีดมากๆ ก็จะทำให้โรคลดลง และไม่มีโรคนี้ได้ จึงขอเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อชาติ เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรากลับมา เศรษฐกิจก็จะได้ฟื้นกลับมา” ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า ส่วนที่ว่าจะฉีดเมื่อไหร่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขมีกฎเกณฑ์ออกมา เรียงลำดับไว้เรียบร้อยแล้ว ว่า ใครเสี่ยง ใครไม่เสี่ยง เมื่อถึงลำดับของเรา ไม่ต้องรีรอก็ไปฉีดได้เลย
ขณะนี้ทั่วโลกฉีดไปแล้วมากกว่า 220 ล้านโดส โดยมีบางประเทศฉีดเข็มแรกครอบคลุมประชากรไปแล้ว 80% เช่น อิสราเอล ซึ่งโรคก็เริ่มลดลง โดยอิสราเอลขึ้นทะเบียนวัคซีนเมื่อ 11 ธ.ค. 2563 โดยเริ่มจากผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน และลงมา 40 ปี และเด็กนักเรียน จนปัจจุบันให้กับทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี จนทุกวันนี้จำนวนผู้ป่วยในอิสราเอลลดลง และอัตราการเสียชีวิตก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าการฉีดวัคซีนหมู่มากก็จะป้องกันโรคได้ดี
ส่วนอาการแทรกซ้อนน่ากลัวหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าจากการฉีดวัคซีนไป 220 ล้านโดสไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีนแม้แต่คนเดียว แต่ถ้าบอกว่า การฉีดเป็นล้านๆโดสมีคนเสียชีวิตหลังฉีดไปแล้วหรือไม่ ต้องบอกว่า มี แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง อย่างในสหรัฐ ฉีดไป 13 ล้านคนใน 1 เดือน โดยแพ้อย่างรุนแรงทันทีพบ 5 ในล้านคน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต และใน 13 ล้านคนมีการเสียชีวิต 113 คน แต่สืบสวนสาเหตุอย่างละเอียด ทั้งผ่าศพ ฯลฯ พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากโรคประจำตัวเดิม ส่วนอาการแพ้เล็กน้อย ย่อมมี ทั้งการเจ็บบริเวณฉีด มีไข้เล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ส่วนที่ว่าต้องจำเป็นตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีดหรือไม่ ต้องบอกว่า ขณะนี้ไม่ได้จำเป็น ประชาชนไม่ต้องดิ้นรนไปตรวจภูมิฯ เพราะระดับงานวิจัยจะมีทำอยู่แล้ว สำหรับอายุ 90 ปีฉีดได้หรือไม่ ไม่มีข้อแม้ เพราะวัคซีนแอสตราฯ สามารถฉีดได้ แต่วัคซีนซิโนแวคยังไม่มีข้อมูลเกิน 60 ปี ขอรอข้อมูลก่อน ส่วนเด็กควรได้รับวัคซีนหรือไม่ ควร แต่จะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับ เพราะขณะนี้ทำการศึกษาในกลุ่มอายุ 16-18 ปี ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ โดยหลังจากฉีดในผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว เด็กจะเป็นกลุ่มสุดท้าย เพราะส่วนใหญ่เด็กเป็นโรคนี้อาการจะไม่รุนแรง
“สำหรับวัคซีนโควิดควรฉีดพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ เพราะใกล้ถึงฤดูกาลฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ต้องเรียนว่า วัคซีนโควิดเป็นวัคซีนใหม่ จึงไม่อยากให้ฉีดพร้อมกับวัคซีนตัวอื่น เนื่องจากหากมีอาการข้างเคียงจะไม่รู้ว่าเกิดจากวัคซีนชนิดไหน จึงขอให้ฉีดห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น หากฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว แต่วันรุ่งขึ้นถูกสุนัขกัด และจำเป็นต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า มีความจำเป็นต้องชีวิต อันนี้ต้องฉีดตาม ส่วนการให้วัคซีนสลับยี่ห้อ เช่น เข็มแรกฉีดซิโนแวค เข็มที่สองไปฉีดของแอสตราฯ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล จึงต้องขอเวลาศึกษาติดตามข้อมูลก่อน เชื่อว่าน่าจะ 3-4 เดือนจะมีข้อมูลตรงนี้เข้ามา ซึ่งหากมีข้อมูล อนาคตอาจไม่ต้องกันวัคซีนยี่ห้อเดิมในเข็มสอง” ศ.นพ.ยง กล่าว
มีคำถามว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะเป็นโรคได้หรือไม่ ต้องบอกว่าได้ แต่ส่วนใหญ่จะอาการน้อยลง ลดความรุนแรงเข้ารพ. และเสียชีวิต ถึงป่วยอาการก็จะน้อยลง เหลือแค่หวัดธรรมดา และหากเป็นโควิดแล้วต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ จากข้อมูล ณ ขณะนี้ เมื่อเป็นโควิดแล้ว ภูมิต้านทานสร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้อยู่ตลอดไป จากการศึกษาเมื่อเป็นโควิดหลัง 3 เดือน เมื่อตรวจภูมิต้านทานจำนวน 300 คน พบว่า 90% มีภูมิต้านทานอยู่ และจะค่อยๆลดลงไปหลัง 6 เดือน ดังนั้น เมื่อเป็นโควิดแล้ว และอยากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขอให้ไปฉีดหลังเป็นแล้วหลัง 6 เดือนขึ้นไป
ส่วนกรณีหากฉีดวัคซีนครบแล้ว จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีกหรือไม่ ก็ต้องรอการศึกษาอีกสักระยะว่า หากภูมิตกลงอาจต้องกระตุ้นอีก แต่ขอรอข้อมูลก่อน และอีกประเด็นกรณีคนท้อง และให้นมบุตรจะฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ต้องเรียนว่า วัคซีนปกติอย่าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายก็ฉีดได้ แต่วัคซีนโควิดยังเป็นตัวใหม่ และไม่เคยศึกษาในคนท้อง จึงยังไม่ให้ฉีด ยกเว้นคนท้องคนนั้นเสี่ยงมาก เช่น เป็นบุคลากรด่านหน้า ก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับผลที่จะได้ ซึ่งในทางปฏิบัติการฉีดวัคซีนต้องตรวจตั้งครรภ์หรือไม่ จริงๆไม่ต้อง แต่ถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ เข็มต่อไปก็ไม่ต้องฉีด
- 416 views