แม้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ว่าบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส
โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด 19 ได้ดี แต่การระบาดก็ยังไม่หมดไป ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างหนักหน่วง
ทว่า “วัคซีน” คือ “ความหวัง” ในการฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ
“การสร้างความเชื่อมั่น” ในการบริหารจัดการวัคซีน ด้วยการกำหนดแผนบริหารจัดการวัคซีน (Roadmap) อย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพ และต้องรวดเร็ว
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุว่า วัคซีนเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจไทย หลายประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว พบว่ายอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ในอิสราเอล
ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปกว่า 70-80% ของจำนวนประชากร เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วกว่า 10-20% ของจำนวนประชากร ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก
ในส่วนของประเทศไทยซึ่งกำลังจะทดลองฉีดวัคซีนในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะฉีดมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งเตรียมแผนสร้างความพร้อมในการกระจายวัคซีนในช่วงเวลา 2-3 เดือนจากนี้ โดยประเมินว่า หากประเทศไทยตั้งเป้าฉีดวัคซีนได้ครึ่งประเทศ (ประมาณ 30 ล้านคน) จบภายสิ้นปีนี้ จะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ฟื้นเศรษฐกิจได้
“ผมเชื่อว่าเรามีวัคซีนเพียงพอ แต่เราจะทำอย่างไรให้ฉีดได้เร็ว เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ให้ภาคธุรกิจเดินหน้าลงทุนต่อได้ ผมเชื่อว่าหลายบริษัทที่มีกำลังยินดีจ่ายค่าวัคซีน เพราะเราก็มีแรงงานต้องดูแล โดยให้รัฐเป็นตัวกลางหาวัคซีน แล้วรัฐก็สามารถไปดูแลกลุ่มอื่น ๆ ได้ อย่างน้อยก็ช่วยทำให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น แต่เราต้องมีแผนและสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เช่น กระจายวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่างไร ลำดับความสำคัญระหว่างเรื่องสุขภาพอนามัยกับเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร การลงทะเบียนรับวัคซีน ใครฉีดแล้ว ใครยังไม่ฉีด
การเก็บรักษาวัคซีน”
กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสอบถาม ภาคธุรกิจยินดีช่วยเหลือรัฐบาลในการบริหารจัดการวัคซีน เช่น โรงงานขนาดใหญ่อาจมีส่วนช่วยค่าวัคซีน แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการภาษีมาช่วยในส่วนนี้ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กรัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือให้แรงงานได้รับวัคซีน เป็นต้น
“รัฐต้องจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน อย่างในสิงคโปร์ที่ฉีดให้กับพนักงานโรงแรมเป็นอันดับแรก ๆ เพราะมองว่าเป็นด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ของไทยก็ต้องประเมินว่าจะจัดลำดับความสำคัญการฉีดอย่างไร และที่สำคัญรัฐต้องสื่อสารถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้รับทราบ”
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ” หลังจากประชาชนได้รับวัคซีน
โดยในขณะนี้สภาหอการค้าฯ ได้หารือกับรัฐมนตรีหลายกระทรวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เช่น ปัญหาส่งออก การอนุญาตให้เรือลำใหญ่เข้ามาขนส่งสินค้า หารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมความพร้อมการท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะถึง 10 ล้านคนในปีนี้เป็นไปได้สูง
ด้านฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบหนักจากโควิด 19 ร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ มีรายได้ลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเกิด
จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ขณะเดียวกันคู่แข่งจากคนในอาชีพอื่นที่ผันตัวเองมาขายอาหารยังเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่า วัคซีนคือความหวัง โดยผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารพร้อมให้ความร่วมมือรัฐในการบริหารจัดการวัคซีน ฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอาหารที่เคยมีรายได้กว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท
“ลมหายใจของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารแทบจะไม่ไหวแล้ว วัคซีนเป็นความหวัง แต่หากช้าเราอาจไม่มีลมหายใจถึงสิ้นปีนี้ อยากให้มองภาคเศรษฐกิจด้วย เพราะท่องเที่ยวและร้านอาหารยังรอความหวัง หากเราต้องหยิบเงินก้อนสุดท้ายมาเป็นค่าใช้จ่ายวัคซีนเราก็ยินดี ขอให้มีแผนที่ชัดเจน อย่าให้รอถึงสิ้นปี”
- 60 views