“หมอโสภณ” ปธ.อนุกก.บริหารฯวัคซีนโควิด เผยปิดช่องซิโนแวคให้กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดได้ พร้อมจัดระบบแยกส่วนวัคซีนซิโนแวค 

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องรอหลังจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการตรวจรับรองรุ่นการผลิต ตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 2 บริษัทแล้วเสร็จ คาดว่าเร็วสุดน่าจะวันที่ 28 ก.พ. จะฉีดที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนเรื่องการฉีดในกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ทั้งบุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มเสี่ยงอื่นๆตามกำหนดในแต่ละจังหวัดจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้  ซึ่งรายละเอียดแผนการฉีดจะเป็นกรมควบคุมโรคดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีวัคซีนแอสตราฯ จะกระจายฉีดอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดทำแผน เบื้องต้นจะลงไปยังจังหวัดที่มีการระบาดมาก อย่างจ.สมุทรสาคร ปทุมธานี และกทม. ซึ่งจะไปให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนซิโนแวคได้ โดยวัคซีนแอสตราฯ ที่จะฉีดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น จะฉีดหลังจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วสักระยะ อาจประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อง่ายต่อการจัดระบบให้ถูกต้อง และอาจนัดให้ฉีดเฉพาะเสาร์อาทิตย์สำหรับวัคซีนแอสตราฯกรณีผู้สูงอายุ 60 ปี เพราะต้องมีการติดตาม ต้องแยกกันให้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนจำนวนหรือรายละเอียดก็จะต้องไปดูตามข้อบ่งชี้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัดพิจารณา

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจรับรองรุ่นการผลิต  ของวัคซีนซิโนแวคว่า  ขณะนี้การตรวจสอบวัคซีนของซิโนแวค คืบหน้าไปมาก ทั้งหลักเกณฑ์ทางกายภาพและเคมี เหลืออีกไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น  คาดว่าจะทันตามกำหนด 3 วัน ส่วนการตรวจสอบวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา นั้น ยังไม่ดำเนิน เนื่องจากทางบริษัท หรือกรมควบคุมโรค ที่ดูแลเรื่องนี้ ยังไม่ได้นำตัวอย่างวัคซีนมาให้ตรวจสอบ 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สำหรับการตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิตวัคซีนของแอสตราฯนั้น ในการตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิตไม่จำเป็นต้องมีการตรวจแค่ทางห้องปฏิบัติการเพียงอย่างเดียว สามารถตรวจสอบทางเอกสารหลักฐานได้ เนื่องจาก การผลิตวัคซีนบางชนิด ผ่านการรับรองจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง 

 

วัคซีนซิโนแวค

วัคซีนแอสตราเซเนกา