การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับที่ 7 ที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชากรโลกในปี 2016 ในแง่ของการสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life years)(1) การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อผู้ดื่ม ทั้งปัญหาสุขภาพจิต การบาดเจ็บ โรคตับแข็ง มะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง(2) และผู้อื่น เช่น ความรุนแรง อาชญากรรมและอุบัติเหตุ(3) ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(4)
การบาดเจ็บบนท้องถนนเป็นผลกระทบสำคัญของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การศึกษาในประเทศสเปนในนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย พบว่า ใน 1 ปี จะเกิดการบาดเจ็บและอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ 3.2 คน ต่อนักศึกษา 100 คน(5) การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นในนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย พบว่า 8.1% เคยได้รับการบาดเจ็บเนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(6) สำหรับประเทศไทย การสำรวจในระดับชาติปี 2013 ในประชากรทั่วไป 42,785 คน พบอุบัติการณ์การบาดเจ็บจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5%(7)
รูปแบบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประสบอุบัติเหตุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในครั้งเดียว (เทียบเท่ากับเบียร์ 5-6 กระป๋องใน 1 ครั้งของการดื่ม) หรือ binge drinking เป็นรูปแบบการดื่มที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก การศึกษาในประเทศนอร์เวย์พบผู้ที่ดื่มแบบ binge drinking เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์สูงถึง 34.4(8) การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ที่ดื่มแบบ binge drinking เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องแอลกอฮอล์สูงถึง 25.6 เท่า(6)
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ทำการประเมินความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการดื่มแบบ binge drinking ในคนไทย โดยใช้ข้อมูล “การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2560” โดยทีมวิจัยได้พบว่า นักดื่มไทยถึง 40.0% ดื่มแบบ binge drinking และ 10.1% ดื่มแบบ binge drinking ทุกสัปดาห์ ในแง่ของความเสี่ยง ทีมวิจัยพบว่า นักดื่มไทยที่ดื่มแบบ binge drinking มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเห็นเป็น 3.9-4.3 เท่า ของผู้ที่ดื่มแบบไม่ดื่มหนัก ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกสัปดาห์แม้ไม่ได้ดื่มหนักก็ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุเป็น 2 เท่า ของผู้ที่ดื่มเป็นครั้งคราว
หากนักดื่มตระหนักถึงอันตรายจากการดื่มที่จะเกิดกับทั้งตนเองและผู้อื่น การลดปริมาณการดื่มต่อครั้งที่ดื่ม และการลดความถี่ในการดื่มลงจะช่วยลดปัญหาต่อสังคมไปได้มาก ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่แบบในตอนนี้ การลดการดื่มให้น้อยที่สุดหรือเลิกดื่มไปเลยนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าอย่างน้อยก็ 200-300 บาทต่อครั้งที่ดื่ม ทำให้มีเงินเหลือใช้ไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นเพื่อช่วยให้ผ่านสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ไปได้อีกด้วย
ผศ.ดร.นายแพทย์อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว
เอกสารอ้างอิง
Alcohol use and burden for 195 countries and territories, 1990–2016: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2016. Lancet Lond Engl. 2018 Sep 22;392(10152):1015–35.
Fleary SA, Joseph P, Pappagianopoulos JE. Adolescent health literacy and health behaviors: A systematic review. J Adolesc. 2018 Jan 1;62:116–27.
Tongsamsi K, Tongsamsi I. Domestic violence resulting from alcohol use: An analysis of reports from Thai daily newspapers during 2006-2015. NIDA Dev J. 2018 Jun 29;58(2):148–67.
Rehm J, Mathers C, Popova S, Thavorncharoensap M, Teerawattananon Y, Patra J. Global burden of disease and injury and economic cost attributable to alcohol use and alcohol-use disorders. The Lancet. 2009 Jun 27;373(9682):2223–33.
Moure-Rodríguez L, Caamaño-Isorna F, Doallo S, Juan-Salvadores P, Corral M, Rodríguez-Holguín S, et al. Heavy drinking and alcohol-related injuries in college students. Gac Sanit. 2014 Sep 1;28(5):376–80.
Yoshimoto H, Takayashiki A, Goto R, Saito G, Kawaida K, Hieda R, et al. Association between Excessive Alcohol Use and Alcohol-Related Injuries in College Students: A Multi-Center Cross-Sectional Study in Japan. Tohoku J Exp Med. 2017;242(2):157–63.
Wakabayashi M, Berecki-Gisolf J, Banwell C, Kelly M, Yiengprugsawan V, McKetin R, et al. Non-Fatal Injury in Thailand From 2005 to 2013: Incidence Trends and Links to Alcohol Consumption Patterns in the Thai Cohort Study. J Epidemiol. 2016 Sep 5;26(9):471–80.
Rossow I, Bogstrand ST, Ekeberg Ø, Normann PT. Associations between heavy episodic drinking and alcohol related injuries: a case control study. BMC Public Health. 2013 Nov 14;13:1076.
- 133 views