กรมอนามัย เผยช่วงวันหยุด 12-14 ก.พ.นี้ พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงพบน้ำประปาเค็ม แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนะผู้ป่วยฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีระบบการกรองน้ำประปาที่ได้มาตรฐาน ส่วนประชาชนทั่วไปอาจเลี่ยงดื่มน้ำประปาในช่วงนี้ ใช้น้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทแทนดีกว่า
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตามการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงไหลเข้าสู่ระบบน้ำดิบ ที่ยังคงส่งผลกระทบจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ตรงกับการคาดการณ์ระยะสั้นของคุณภาพน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2564 ยังมีแนวโน้มความเค็มคงที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาได้จนประชาชนสามารถรับรู้ถึงรสชาติของน้ำประปาที่เปลี่ยนไปทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางจังหวัด เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ซึ่งประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำประปารายวันผ่านเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชั่น MWA on Mobile เพื่อการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้ ในการอุปโภคบริโภค โดยเลือกสำรองน้ำในช่วงที่ค่าคลอไรด์ต่ำกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร (หรือน้ำประปาไม่เค็ม)
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไป จะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่าควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
“ปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายเกินจากการดื่มน้ำประปา ดังนั้น ในช่วงน้ำประปาเค็มกลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย สำหรับคนปกติทั่วไปการดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือเปลี่ยนเป็นใช้น้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทแทนจะดีกว่า และยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 50 views