กรรมการแพทยสภาแนะทำแท้งต้องมีข้อบ่งชี้ แม้กฎหมายให้ทำแต่ต้องเป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์ เพราะมีเรื่องความปลอดภัยหลังทำ ชูตัวอย่างทำ 1 ตำบล 1 ศูนย์คุมกำเนิดร่วม
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์โรงพยาบาลพิจิตร และกรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด ว่า ตนไม่ได้คัดค้านกฎหมายดังกล่าว และเห็นด้วยที่หญิงไม่มีความผิดอาญา แต่ยังมองว่าต้องมีการทบทวน แก้ไขมาตรา 301 เพราะกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน มีการลงรายละเอียดโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยของผู้หญิง ซึ่งการยุติการตั้งครรภ์จะตามมาด้วยการตกเลือดปวดท้อง และมีคนจำนวนหนึ่งที่แท้งไม่หมด ต้องขูดมดลูก ตามมาด้วยมดลูกอักเสบมดลูกทะลุ ต้องตัดมดลูกออก ถึงจะเจอน้อยแต่ก็เจอ เพราะฉะนั้นจึงมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ทำยุติการตั้งครรภ์แล้วไม่สามารถมีลูกได้อีกบางรายถึงขั้นเสียชีวิต และกระทบกับจิตใจของผู้หญิง ทำให้ต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อนจากเรื่องนี้ โดยที่กฎหมายเองก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบของฝ่ายชายแต่อย่างใด
พญ.ชัญวลี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันอัตราการเกิดของประเทศไทยลดลง ปัญหาคู่สมรสมีบุตรยากต้องใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ค่าใช้จ่ายสูง เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอยู่ในภาวะวิกฤต แต่มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี แต่ไม่มีรายละเอียด ไม่มีการป้องกัน แก้ไขเป็นระบบ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบตามมาอีกนอกจากเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงแล้วคือ อาจจะเปิดช่องทำให้เกิดธุรกิจการทำแท้ง โฆษณาขายยา สถานที่ทำแท้ง คนทำแท้ง เพื่อให้หญิงทำแท้งตนเอง หรือไปทำแท้งตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะไม่ต้องมีขั้นตอน ยืนยันทำแท้ง ทำได้เลย และอาจส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ทำแท้ง ต่อจากเรื่องอุ้มบุญ เพราะแม้มีการทำแท้งอย่างเสรีในหลายประเทศ แต่มีกฎหมายป้องกันการตรวจเพศทารกเอาไว้ แต่ในประเทศไทยสามารถตรวจเพศทารกได้ก่อน 12 สัปดาห์
“การทำแท้งตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ไม่ต่างจากการทำแท้งเถื่อน กฎหมายไม่ควรเปิดช่องให้เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย แต่ให้การยืนยันทำแท้งต้องมีข้อบ่งชี้ ทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและทำในสถานพยาบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่บังคับแพทย์ที่ไม่สมัครใจ ให้มาทำเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามก่อนทำต้องผ่านการให้คำปรึกษา ทางเลือกการช่วยเหลือ หากเปลี่ยนใจไม่ทำแท้งต้องมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือจนกว่าจะดูแลตนเองและลูกได้ หากทำแท้ง หลังทำก็ต้องมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ แนะนำเรื่องคุมกำเนิด เช่น ทำ 1 ตำบล 1 ศูนย์คุมกำเนิด” สูตินรีแพทย์ กล่าว และว่า กฎหมายควรกำหนดห้ามคนต่างชาติเข้ามาทำแท้งในประเทศไทยเพื่อป้องกันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติเรื่องทำแท้ง (Medical Hub of Abortion)
- 374 views