กรมอนามัยร่วมกับแพทย์ รพ.รามาธิบดี เผยข้อมูลผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ชี้เด็ก กลุ่มเสี่ยงรับผลจากมลพิษอันตรายเยื่อบุทางเดินหายใจ ขณะที่กลุ่มอายุ 45-54 ปี พบอาการมากที่สุด เหตุต้องออกมามาทำงานและมีโอกาสรับฝุ่นมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่กรมอนามัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวรู้ทันป้องกันฝุ่น PM2.5 ประเด็น “ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและวิธีการป้องกัน” ว่า จากการเฝ้าระวังอาการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง พบว่า ในภาพรวมผู้ที่มีอาการลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่พบมากที่สุดยังคงเป็นอาการโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก ร้อยละ 17 แสบจมูก ร้อยละ 13.7 และแสบตาคันตา ร้อยละ 9.8 ซึ่งเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสฝุ่นละออง โดยวันที่มีอาการมากที่สุด คือ วันที่ 21 - 23 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีค่า PM 2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มอายุ 45-54 ปี ยังเป็นกลุ่มที่พบอาการมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ออกมาทำงานและมีโอกาสรับสัมผัสฝุ่นมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงเกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน โดยจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 พบว่า มีเด็กอายุ 0 - 14 ปี กว่าร้อยละ 44.1 ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวน 618,131 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.7 ของเด็กทั้งหมด โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ แสดงว่าในทุก ๆ วันจะมีเด็ก 0 - 14 ปีที่มาเข้ารับการรักษาด้วยการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 1,694 ราย ต่อวัน ดังนั้น ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ควรป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยควรลดหรืองดการออกนอกอาคารในวันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากตลอดเวลา รวมทั้งกินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่มีฝุ่นสูง และหากมีอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์ ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำชุดข้อมูล ความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็ก โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซด์กรมอนามัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ผศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เด็กเป็นประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากมลพิษที่ส่งผลต่อเยื่อบุทาง เดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันที่ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กปกติ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหัวใจ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คือ PM 2.5 มากกว่า 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ดังนั้น ระดับคุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม คือ PM 2.5 ไม่เกิน 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียน ควรมีการติดตามรายงานคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เมื่อระดับ PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้ม เด็กควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หากระดับ PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง หรือหากระดับ PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน มากกว่า 3 วัน ควรพิจารณาหยุดเรียน
ด้าน รศ.ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เมื่อระดับคุณภาพอากาศภายนอกเกินเกณฑ์มาตรฐาน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียกเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หากภายในอาคารมีมลพิษสูง ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM 2.5 ได้ ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีการผลิตโอโซนเพราะโอโซนในปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและมีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า สำหรับเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนค์ เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดง ควรสวมหน้ากาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์
- 622 views