ผู้ป่วยล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติคนแรกใน “สิทธิบัตรทอง” เปิดใจ จากเดิมต้องล้างวันละ 4 รอบ เช้า-เที่ยง-เย็น-ดึก ไม่กล้าหลับ นอนติดต่อกันไม่ได้ อ่อนเพลีย ปัจจุบันแค่กดปุ่มเดียวจบ ด้านเลขาธิการ สปสช. ตั้งเป้าโครงการปี 2564 ให้บริการ 100 คน
คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว-เจริญกรุง เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการนำร่องให้บริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการรักษาพยาบาล
นางมณี เปลี่ยนทันผล ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ซึ่งได้รับการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติเป็นรายแรกในสิทธิบัตรทอง เปิดเผยว่า ตนเองใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองได้ประมาณ 2 ปี แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น สุขภาพไม่แข็งแรง บางครั้งมีกำหนดล้างไตในเวลา 23.00 น. แต่ก็หลับไปเสียก่อน จึงล้างไตไม่สม่ำเสมอได้ ที่สุดแล้วเกิดเป็นอาการท้องบวมและเป็นก้อนแข็ง แพทย์จึงแนะนำให้ลงชื่อเพื่อเข้าทดสอบการใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ สปสช. เพิ่งนำร่องเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัตินั้น แรกเริ่มต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ จากนั้นก็เข้าอบรมถึงขั้นตอนในการใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ เมื่อทุกอย่างผ่านการประเมินก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบบ้านพักว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนจะติดตั้งเครื่องล้างไตอัตโนมัติให้ภายในบ้าน
นางมณี กล่าวว่า ในอดีต การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยมือจะล้างวันละ 4 รอบ ตั้งแต่ช่วงเช้า เที่ยง เย็น ดึก ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น. โดยต้องคอยเปลี่ยนน้ำยา 4-5 ถุง นั่นทำให้รู้สึกเหนื่อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่สามารถนอนหลับเป็นเวลายาวติดต่อกันได้เพราะกังวลเรื่องการเปลี่ยนน้ำยาล้างไต แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้เครื่องอัตโนมัติทำให้สะดวกขึ้นมาก เพราะใช้น้ำยาเพียง 2 ถุงต่อวัน สามารถตั้งเวลาและนอนหลับได้
“แพทย์จะเป็นคนตั้งคำสั่งต่างๆ ไว้ในเครื่องหมดแล้ว เราทำหน้าที่เพียงกดปุ่มสีเขียวเพื่อให้เครื่องทำงาน และคอยเปลี่ยนน้ำยาเท่านั้น” นางมณี กล่าว
พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องมาเป็นเวลานาน เยื่อบุช่องท้องจะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ต้องใช้ปริมาณน้ำยาล้างไตมากขึ้น การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติจะทำให้เพิ่มปริมาณน้ำยาล้างไตได้มากขึ้น ล้างเอาน้ำและเกลือส่วนเกินได้สะอาดขึ้น อีกทั้งยังสามารถทำในขณะที่ผู้ป่วยนอนในเวลากลางคืนได้ จึงสะดวกกับผู้ที่ต้องไปทำงานในเวลากลางวันหรือเด็กนักเรียน
“การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติมีให้ใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ โดยให้บริการกับผู้ป่วยสิทธิราชการและประกันสังคมหรือผู้ที่ชำระเงินเอง ส่วนบัตรทอง ทาง สปสช. ได้เริ่มบริการนำร่องให้สิทธิประโยชน์ในปี 2564 เป็นปีแรก” พญ.ปิยะธิดา กล่าว
พญ.ปิยะธิดา กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยที่รับบริการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติจะมีข้อพิจารณาที่สำคัญ คือผู้ป่วยที่มีปัญหาในการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) แต่ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) ได้ เนื่องจากความพร้อมสภาพร่างกายและปัญหาฐานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเรียนหรือประกอบอาชีพและการล้างไตเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนหรือประกอบอาชีพ
“การล้างไตทางช่องท้องหรือล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมกับกับลักษณะทางคลินิกและบริบทจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องได้รับการประเมินจากอายุรแพทย์โรคไตว่ามีความเหมาะสมกับรูปแบบใด” พญ.ปิยะธิดา กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับบริการล้างไตผ่านช่องท้องมากกว่า 3 หมื่นราย โดยในปีงบประมาณ 2564 สปสช. จัดทำโครงการ APD เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง เบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายบริการผู้ป่วยจำนวน 100 ราย ล่าสุดมีหน่วยบริการแสดงความจำนงค์เข้าร่วมให้บริการมากกว่า 50 แห่ง ผู้ป่วยที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาจำนวน 173 ราย และจะเริ่มทยอยให้บริการตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป
- 2163 views