องค์การเภสัชกรรม สปสช. ไปรษณีย์ไทย และชมรมเพื่อนโรคไต ตั้งทีมเฉพาะกิจและเปิดสายด่วน ส่งน้ำยาล้างไตช่วยผู้ป่วยพื้นที่น้ำท่วมให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด ส่งผลให้การส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) ในบางเส้นทางไม่สามารถเข้าพื้นที่บ้านผู้ป่วยได้ ทำให้ต้องเลื่อนการจัดส่งน้ำยาล้างไตออกไป ซึ่งผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายมีความจำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างไตอย่างต่อเนื่องวันละ 4 ถุงต่อวันหรือ 120 ถุงต่อเดือน
องค์การเภสัชกรรม (อภ.)สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด และเครือข่ายชมรมเพื่อนโรคไต ได้ตระหนักถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหานี้เป็นการด่วนแล้ว อย่างเช่นล่าสุดในพื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดยโสธร คือ อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอทรายมูล อำเภอไทยเจริญ และอำเภอป่าติ้วมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องทั้งสิ้นจำนวน 231 รายและขณะนี้ทีมเฉพาะกิจได้เร่งจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยได้ครบทั้งหมดในทุกพื้นที่แล้ว
ในสถานการณ์ที่ยังมีน้ำท่วมอยู่นี้ องค์การฯได้เปิดสายด่วนเฉพาะกิจ เบอร์โทรศัพท์หมายเลข 02 203 8909 (ในเวลาราชการ)และหมายเลข 093 919 4953 เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติที่ประสบปัญหาและมีความเสี่ยงที่จะขาดน้ำยาล้างไต สามารถโทรศัพท์แจ้งเข้ามายังหมายเลขดังกล่าวได้โดยสายด่วนเฉพาะกิจจะทำการประสานทีมงานฯ ดำเนินการจัดส่งได้ทันทีโดยหมายเลขสายด่วนนี้จะเปิดให้บริการไปจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย และกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนั้นบริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเฟรซีเนียส เมดิคอล แคร์(ประเทศไทย) จำกัดบริษัท แอลจี เคม ไลฟ์ไซเอนเซส (Espogen) และบริษัทเอเพ็กซ์เซล่า (Hema-Plus) บริษัท คอสม่าเทรดดิ้ง (Hypercrit) บริษัท อาร์เอ็กซ์ จำกัด (Epokine) และ บริษัท เกร๊ต อิสเทอร์น ดรั๊ก (Renogen) ซึ่งเป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายน้ำยาล้างไต(CAPD) และยากระตุ้นเม็ดเลือด (EPO)ยังได้จัดตั้งทีมจัดส่งในพื้นที่น้ำท่วมเป็นการเร่งด่วนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ปกตินั้นองค์การฯ จะมีระบบ VMI บริหารจัดการระบบสำรองและจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยได้มีใช้อย่างต่อเนื่องโดยบริการจัดส่งถึงบ้านผู้ป่วยเดือนละ 1 ครั้ง โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 50,000 ราย เป็นผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ประมาณ 30,000 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงเบิกจ่ายน้ำยาล้างไตทางช่องท้องเดือนละประมาณ 22,000 รายมีอัตราการใช้น้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้องโดยรวมเดือนละ 2.5 ล้านถุง หรือประมาณ 30 ล้านถุงต่อปี โดยเห็นว่าการล้างไตทางช่องท้องทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติได้ ผู้ป่วยเองรู้สึกมีคุณค่าและมีความสุขในการใช้ชีวิต
- 50 views