แพทยสภาจัดบรรยายข้อควรรู้สำหรับแพทย์เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 กฎหมายไหนเกี่ยวข้องการทำงานบุคลากร ขณะที่พรบ.โรคติดต่อย้ำต้องเปิดเผยข้อมูลโควิด เพราะเกี่ยวข้องการคุมระบาด
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ห้องประชุมแพทยสภา อาคารสภาวิชาชีพ นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บรรยายช่วงหนึ่งในหัวข้อ เรื่อง ข้อควรรู้สำหรับแพทย์เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (ครั้งที่ 2 ) ว่า ก่อนจะมีพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล มีการใช้หลักจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ประการที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย Autonomy หลักเอกสิทธิ์ หรือความเป็นอิสระของผู้ป่วย เราเคารถสิทธิการตัดสินใจของผู้ป่วย , Beneficence หลักการรักษาประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องช่วยชีวิตผู้ป่วยและต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เป็นต้น และ Non-maleficence หลักการไม่ทำอันตรายต่อผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มีระบุในมาตรา 323 ว่าผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่น โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล หรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้น แล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดต้องระวางโทษ ประเด็นคือ ประมวลกฎหมายนี้ครอบคลุมบุคลากรที่เป็นวิชาชีพที่ระบุในกฎหมาย แต่บุคคลอื่นๆทำงานในรพ.ไม่ถูกครอบคลุม นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยหลักคิดต้องไม่เปิดเผยความลับของผู้ป่วย เว้นแต่ได้รับความยินยอมโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่ ซึ่งวิชาชีพทางสุขภาพทุกวิชาชีพระบุเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยก็มีกำหนดเช่นกัน คือ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยยินยอมเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยหรือตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆอีก อย่าง มาตรา 7 ในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีระบุไว้ ซึ่งข้อความคล้ายกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผุ้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย
นพ.นวนรรน กล่าวว่า น่าสังเกตว่า คำว่าผู้ใดจะนำไปเปิดเผยจนทำให้ผู้นั้นเสียหายไม่ได้ ประโยคนี้ถือว่าปิดช่องว่างในมาตรา 323 ของประมวลกฎหมายอาญา เพราะมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สุขภาพฯ ไม่ได้กำหนดวิชาชีพใด แต่พูดภาพรวม เป็นต้น ส่วนประเด็นการตีความว่าบุคคลนั้นเสียหายอย่างไร ก็ยังเป็นเรื่องท้าทาย แต่หลักคิดจริงๆเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ควรคำนึงว่า ข้อมูลเป็นของใคร และมีเหตุผลในการนำไปใช้หรือเปิดเผยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นแนวทางให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
“อย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นอีกกฎหมายที่เห็นชัดในสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการรายงานข้อมูลผู้ป่วยให้แก่กรมควบคุมโรค ซึ่งการรายงานข้อมูลผู้ป่วยส่วนนี้สำคัญมาก เป็นกฎหมายบังคับ เพราะถ้าไม่รายงานก็จะส่งผลต่อการควบคุมโรคโควิด-19 และมีรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลเหล่านี้อย่างเหมาะสม และยังมีพ.ร.บ.สุขภาพจิตก็เช่นกัน มีการกำหนดว่า ห้ามเปิดเผยข้อมูล ยกเว้นจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยหรือสาธารณชน เป็นต้น” นพ.นวนรรน กล่าว
นอกจากนี้ ในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีข้อกำหนดในการใช้ข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อนำไปเบิกจ่ายด้วย ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการก็จะลักษณะเช่นเดียวกัน ส่วนกฎหมายใหม่ อย่างพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ก็จะมีการกำหนดการรักษาความลับข้อมูลผู้ป่วย รวมทั้งการจัดระบบ เซตระบบการให้ข้อมูลการส่งต่อ รวมถึงสถานพยาบาลที่ระดับสูงกว่าเมื่อรักษาผู้ป่วยแล้วต้องส่งกลับข้อมูลด้วย เป็นต้น
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม : https://fb.watch/38VfgSB4MT/
- 1189 views