ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตั้งโต๊ะแถลงหลัง “ธนาธร” วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดของไทยล่าช้า ย้ำไม่ใช่ ด้านสถาบันวัคซีนแห่งชาติขอผู้วิจารณ์ศึกษาข้อมูลรอบด้าน ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการ ไทยมีวัคซีนใช้แน่นอน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนโควิด-19ภายหลัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า กล่าวถึงวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และโจมตีรัฐบาลเรื่องดำเนินการจัดหาวัคซีนล่าช้า ว่า สืบเนื่องจากขณะนี้มีข้อสงสัยและเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยข้อมูลที่ทางกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาตลอด มีข้อมูล มีหลักฐานมาโดยตลอด ซึ่งจะขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ ทั้งการจัดหาวัคซีน ซึ่งมีผู้กล่าวหาว่า รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้วัคซีนมาด้วยความนิ่งนอนใจ ได้ล่าช้า มีราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน กระบวนการได้มาซึ่งวัคซีน ระบุว่าติดต่อเพียง 1-2 บริษัท โดยทั้งหมดจะขอชี้แจง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการระบาดโควิด รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของวัคซีน และกระบวนการดำเนินการก็ไม่ได้ช้า เราเริ่มต้นตั้งแต่ทดลองวัคซีน ตั้งแต่กลางปี 2563 มีกลไกจัดหาวัคซีนที่ชัดเจน มีฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานย่อยในการดำเนินการอีก และได้ติดตามข้อมูลว่า ใครทำอะไรถึงไหน ซึ่ง ณ เวลานั้นข้อมูลก็จำกัด เพราะไม่ได้มีสินค้าสำเร็จรูป หลายเรื่องต้องมีการคาดการการวางแผน โดยเราตั้งเป้าว่าปี 2564 จะได้วัคซีนครอบคลุม 50 % มา 3 ช่องทาง คือ 1.การแสดงความสนใจร่วมโครงการโคแวกซ์ โดยเงื่อนไขการจองและซื้อวัคซีนค่อนข้างสูง เราได้มีการเจรจากับโคแวกซ์หลายครั้ง แต่ยังมีประเด็นว่า คนที่ประสานกับเรานั้นก็เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ ก็อาจมีความยุ่งยากในการจองซื้อบางประการ และการจะได้วัคซีนก็อาจมีปัญหา แต่เราไม่ได้ทิ้ง เพียงแต่ช่องทางนี้ประเมินว่าอาจค่อนข้างยาก โดยโคแวกซ์อยู่ที่ 20%
2.เรายังหาช่องทางนอกจากจองซื้อ เราต้องการเกิดความร่วมมือในการผลิตในประเทศไทยด้วย โดยตรงนี้จะเป็นในส่วนของแอสตราเซเนกา กับสยามไบโอไซเอนซ์ อีกประมาณ 20% หรือ 26 ล้านโดส และ 3. ในส่วนนี้จะมีอีก 10% ซึ่งจะเปิดทางให้บริษัทอื่นๆ ซึ่งก็ติดตามกันอยู่ว่า ผลการทดลองเป็นอย่างไร เพียงแต่ตรงนี้เราติดตามแต่ไม่ได้เปิดเผยเพราะข้อตกลงต้องมีการเจรจากันก่อน ที่สำคัญ เราไม่ได้ละเลยการผลิตในประเทศ โดยมีการสนับสนุนให้คนไทยผลิตได้เองด้วย ดังนั้น สถานการณ์วัคซีนไม่ได้มีข้อมูลสำเร็จรูป ณ เวลาใด เวลาหนึ่ง หลายเรื่องต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น การที่เราได้วัคซีนซิโนแวคในช่วง ก.พ.-เม.ย. และต่อด้วย 26 ล้านโดสของแอสตราเซเนกาในช่วงปลายเดือน พ.ค. จากนั้นจะเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วน 50% ในปี 2564 จึงไม่ได้ล่าช้าอะไรมากเมื่อเทียบกับประเทศทั่วไป ส่วนประเทศที่ได้ฉีดก่อนก็เพราะมีการจองวัคซีนตั้งแต่ยังเป็นวุ้นอยู่เลย
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า เราใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบด้วยกัน ไม่ใช่แค่การจัดซื้อวัคซีนทั่วไป เราต้องพิจารณาหลายส่วน ว่า มีแนวโน้มใช้การอย่างไร และมีแนวโน้มใช้ในไทยได้อย่างไร เราไม่ได้พิจารณาตามชื่อบริษัท อย่างกรณีของบริษัทแอสตราเซเนกา ไม่ได้จองซื้อทั่วไป แต่จองซื้อมีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทยได้ว ซึ่งการถ่ายทอดก็ต้องหาบริษัทที่จะมารับถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต้องมีความพร้อมที่สุด มีความสามารถที่สุด ซึ่งบริษัทแอสตราเซเนกาได้ทบทวนบริษัทต่างๆในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เจ้าเดียว โดยพบว่ามีเพียงสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบของ Viral vector vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่จะเลือกบริษัทเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมของของ สธ.เอง ศักยภาพก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม คนที่จะมาสอนก็ต้องไม่เสียเวลามากเกินจนไปเพราะมีความเร่งด่วน
“ แอสตราเซเนกาเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งเกิดจากเรามีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับเครือ SCG และเครือ SCG ก็ได้เจรจาดึงให้แอสตราเซเนกามาประเมินสยามไบโอไซเอนซ์ ขณะเดียวกันแอสตราเองก็มีนโยบายขยายฐานกำลังการผลิตไปทั่วโลก และต้องการกำลังการผลิตจำนวนมากระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป หลังพิจารณาจึงเข้าได้กับหลักเกณฑ์ที่ต้องการ” นพ.นคร กล่าว
นพ.นคร กล่าวอีกว่า การที่ไทยได้ข้อตกลงในการทำงานลักษณะนี้ หลายประเทศอยากได้ในทำนองนี้ พยายามจะแข่งให้ได้รับคัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของพวกเราที่ทำงานเป็น “ทีมประเทศไทย” ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนฯสยามไบโอไซเอนซ์ เครือ SCG พวกเราเจรจาและแสดงศักยภาพให้เห็น รวมทั้งรัฐบาลก็แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน พัฒนาศักยภาพสยามไบโอไซเอนซ์ ให้สามารถมาผลิต Viral vector vaccine ได้ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้าน ร่วมกับSCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือต่างๆ ให้พัฒนาขีดความสามารถจนเข้าคุณลักษณะและได้รับคัดเลือก
“นี่เป็นความพยายามที่ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน นึกอยากจะทำก็ทำไม่ได้ เราต้องมีพื้นที่ฐานเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ และทรงวางแนวทางว่าบริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล รายได้หรือผลกำไรในแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะคืนทุนในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นการขาดทุนเพื่อประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิต ลดการนำเข้ามูลค่ามากกว่าส่วนที่ขาดทุน คนที่ไม่เห็นอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทที่มีการขาดทุน แต่ไม่ใช่ เพราะเป็นตามหลักปรัชญาที่ รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้และทำมาต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้ทำไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คงไม่เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดสเช่นนี้ และรัฐบาลยังให้เจรจาเพิ่มอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ” นพ.นคร กล่าว และ การที่สยามไบโอไซเอนซ์มาเข้าร่วมผลิตวัคซีน ต้องสรรเสริญ เพราะต้องหยุการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆของบริษัททั้งหมด
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า การจัดหาวัคซีนโควิด-19ที่ตั้งเป้า 50% ของประชาชน จำนวน61ล้านโส เป็นเป้าของปี 2564 ซึ่งการกระจายวัคซีนต้องใช้ความสามารถอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนหามาทีเดียวเต็ม 100% ของจำนวนคนไทย โดยการคาดการณ์ของยูนิเซฟ ระบุว่าปลายปีนี้ จำนวนวัคซีนจะเพียงพอกับประชากรทั้งโลก แต่ตอนนี้ที่มีการใช้เป็นไปในภาวะเร่งด่วน จึงรีบร้อนนำมาใช้
“ผู้วิพากษ์วิจารณ์มีข้อมูลไม่ครบควรต้องใช้ความสามารถตรวจสอบข้อมูลมากกว่านี้ ประเทศแรกที่ใช้วัคซีนก่อนหน้าเริ่มมีรายงานเจ็บป่วยผลจากวัคซีน สะท้อนเรื่องความมั่นใจการใช้วัคซีน ถ้าประเทศรีบนำมาใช้และไม่ปลอดภัย เรานำมาใช้ต้องมั่นใจความปลอดภัย อาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์แต่รับได้ก็ไม่เป็นไร แต่ที่เกิดรุนแรงต้องระวัง การรีบร้อนไม่ใช้ข้อมูลศึกษาให้ดี เร่งอยากใช้อาจเกิดผลเสีย ประเทศไทยจึงพยายามขอข้อมูลผู้ผลิตต่างๆ เพื่อได้ข้อมูลชัดเจนเรื่องคุณภาพประสิทธิภาพ ขอให้คนวิพากษ์วิจารณ์ใช้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ด้านเดียว หรือนึกคิดเอาเองตามประสบการณ์เดิมๆ จะช่วยลดความเข้าใจผิด”นพ.นครกล่าว
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รับงบฯ 600 ล้านบาท และให้เป็นทุนพัฒนาศักยภาพของบริษัทสยามไบโอไซฯเพิ่มเติม โดยในสัญญาการรับทุน บริษัทสยามไบโอไซฯเสนอเองขอให้ระบุว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้วตามมาตรฐานของแอสตราฯ จะคืนทุนให้เป็นวัคซีนในจำนวนที่เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับทุน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเพราะปกติจะให้ทุนลักษณะให้เปล่า เพื่อลบข้อสงสัยว่าสนับสนุนบริษัทเอกชน จึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญา
“เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาอันคลาดเคลื่อนและเลื่อนลอย ควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการทำงานของสถาบันที่พวกเราเคารพรัก”นพ.นครกล่าว
- 128 views