คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบ 2 มติสมัชชาสุขภาพฯ ปี 63 เตรียมชง ครม. รับทราบเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ ด้าน “รองนายกฯ อนุทิน” กำชับทุกฝ่ายเร่งขับเคลื่อนมติให้เกิดเป็นรูปธรรม มั่นใจช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคระบาดให้ชุมชนได้ ขณะที่ “นพ.ประทีป” ชวนองค์กรเครือข่ายทั่วประเทศเปิดแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่” เดินหน้าสร้างสังคมหนึ่งเดียว สู้โรคระบาดต้องจับมือ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ซึ่งประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom meeting เป็นครั้งแรก โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2563 จำนวน 2 มติ ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 2.การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีโรคระบาดใหญ่ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติต่อไป
นายอนุทิน เปิดเผยว่า ความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะตามข้อมติสมัชชาสุขภาพฯ จะช่วยหนุนเสริมให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถวางแนวทางตั้งรับที่บูรณาการกันและครอบคลุมตั้งแต่ระดับชุมชนพื้นที่ ตำบล อำเภอ และจังหวัดได้ ก็จะยิ่งช่วยให้ทุกคนเกิดความมั่นใจและกลายเป็นระบบป้องกันโรคระบาดของประเทศที่เริ่มจากมีภูมิคุ้มกันของชุมชนต่อการรับมือโรคระบาดและผลกระทบได้ในอนาคต
“เนื้อหาสาระในมติสมัชชาสุขภาพฯ เรื่องการจัดการโรคระบาดนั้น พูดถึงการบูรณาการการทำงาน การสื่อสาร กำลังคนและโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนมาตรการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค มอนิเตอร์เหตุการณ์ รวมถึงการลดผลกระทบเชิงลบและสร้างกลไกที่เอื้อต่อการสร้างองค์ความรู้ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแผนงานรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว เรียกได้ว่าแผนปฏิบัติดังกล่าว คือการแปลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ออกมาเป็นรูปธรรม” นายอนุทิน กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่าที่ประชุมวันนี้ยังได้เห็นชอบให้ สช. ร่วมกับองค์กรเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่” โดยมีเป้าหมายมุ่งขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักว่า “การควบคุม ป้องกันการระบาดและการรับมือกับวิกฤตของประเทศครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย สร้างสังคมหนึ่งเดียว เพราะการสู้กับโรคระบาดต้องจับมือ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา” และการขับเคลื่อนจะแบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เน้นสนับสนุนให้เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายวิชาการ องค์กรธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และองค์กรของคณะสงฆ์ในพื้นที่ ทำงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อแปลงนโยบายและมาตรการของรัฐให้เป็นรูปธรรมสู่การปฏิบัติตามบริบทพื้นที่ และเกิดกิจกรรมของประชาชนเพื่อสนับสนุนมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาดในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้ผลโดยเร็ว รวมทั้งให้ประชาชนในทุกตำบลชุมชนพื้นที่ ตื่นตัว ยกการ์ดขึ้นสูง จัดระบบเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการกำหนดมาตรการของประชาชนช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยากลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดและการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ
“และระยะต่อไป สช. จะร่วมกับเครือข่ายด้านสุขภาพ ด้านปกครอง หน่วยงานด้านความมั่นคง และภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ รวบรวมองค์ความรู้จากปัญหาการระบาดและผลกระทบในด้านต่างๆ จนเป็นวิกฤตของประเทศครั้งนี้ เพื่อสรุปและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติหรือกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และเตรียมเสนอเข้าเป็นระเบียบวาระการพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 ที่จะมีขึ้นประมาณเดือนธันวาคมนี้” เลขาธิการ คสช. กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมกรสุขภาพแห่งชาติ ยังได้รับทราบผลการจัดและมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งที่1 ที่เห็นชอบให้มีธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างสุขภาวะให้กับคนกรุงเทพฯ และเห็นชอบเรื่องการจัดระบบหาบเร่แผงลอย กับการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญในภาวะวิกฤตโรคระบาดและเป็นเสน่ห์สนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก
- 16 views