วัคซีนมาโควิดจะถอยแค่ไหน ตอนที่ 2
วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
10 มกราคม 2564
ตอนที่แล้วคุยถึงประเทศไทยสองสามภาคส่วนในมุมมองของการระบาดของโควิด คือ ส่วนแรก คือ แรงงานข้ามชาติที่อยู่กับอย่างหนาแน่น สะเก็ดเชื้อโควิดตกเข้ามาก็แพร่ไปภายในกลุ่มอย่างรวดเร็วในที่สุดเชื้อก็แพร่ไปสู่ประชาชนไทย ส่วนที่สองคือ คนไทยในที่ลับตา ตามแหล่งเริงรมย์และอบายมุข เป็นลูกพลุเล็กที่พร้อมจะขยายและกระจายเชื้อให้ขจรไกล ส่วนที่สาม คือ ประชาชนส่วนใหญ่ในที่เปิดเผย เมื่อเชื้อโควิดตกเข้ามาก็ถูกมวลชนและทีมสาธารณสุขกักไว้ไม่ให้แพร่ออกไป
แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ทำให้โควิดลุกไหม้รวดเร็ว และ และความเป็นอยู่ที่ลำบากทำให้บางส่วนเป็นขอนไม้ผุที่ติดไฟในป่าเบญจพรรณ คงความร้อนคุกรุ่นมีพวยควันระรวยอยู่ข้ามเดือนข้ามปี แม้แต่วสันตฤดูก็ไม่อาจจะดับไฟสุมขอนนี้ได้ ถึงยามลมร้อนแห่งฤดูแล้งพัดมา ไฟก็คุโชนลามป่าลามทุ่ง
คราวที่แล้วเปรียบโควิดเหมือนไฟ วัคซีนเสมือนน้ำและสารเคมีที่ใช้ดับไฟ เมื่อรถดับเพลิงคันแรกของรัฐบาลใกล้จะมาถึง แต่ปริมาณน้ำมีจำกัด รัฐจะฉีดน้ำไปที่ตรงไหน ถ้าคะเนว่าศูนย์กลางแห่งไฟนั้นร้อนแรงไม่สามารถดับเองได้มีแต่จะเป็นต้นตอที่ลุกลามออกไป ก็สมควรที่จะเล็งกระบอกน้ำจากรถดับเพลิงพุ่งไปที่ฐานของไฟคือแรงงานและคนหนุ่มสาวกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ แต่ถ้าคิดว่าศูนย์กลางไฟคงจะมอดไปเอง ก็ฉีดน้ำเลี้ยงส่วนที่ยังไม่ไหม้ก็แล้วกัน
ตอนที่สองนี้จะคุยเรื่องแนวคิดเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนในการตัดการแพร่ระบาดโควิด และพยากรณ์ว่าปลายปีนี้เมื่อฉีดวัคซีนได้ครึ่งนึงของประชากรแล้วเปิดเมืองให้มีกิจกรรม โควิดจะลามหรือจะหลบ ตอนกลางบทความมีการคำนวณง่าย ๆ อยู่บ้าง ถ้าผู้อ่านรู้สึกว่ายากเกินไป ก็ไปอ่านบทสรุปการวิเคราะห์ตอนท้าย
เอาเรื่องความปลอดภัยก่อน ในขณะนี้ดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนมากกว่าประสิทธิผล มันก็น่ากังวลอยู่หรอกครับ เพราะวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็ตาม เพิ่งพัฒนาและผ่านการทดลองใช้ในคนมาไม่กี่เดือน นักวิทยาศาสตร์และหมอหลายคนกลัววัคซีน m-RNA เพราะเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ ยังไม่เคยมีการใช้วัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้ในคนมาก ๆ มาก่อน ช่วงสัปดาห์นี้มีการเผยแพร่คลิปที่นักวิทยาศาสตร์อาวุโสไทย-เยอรมันที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งบรรยายความน่ากลัวของวัคซีน m-RNA ที่ทางตะวันตกกำลังใช้อยู่ อันนั้นเป็นความน่ากลัวในทางทฤษฎี ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบจากใช้จริง ๆ ในประเทศตะวันตก ไทยเราไม่ต้องกังวลมาก เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่าเราจะใช้วัคซีนจากจีนก่อน แล้วตามด้วยวัคซีนจากอังกฤษซึ่งเราทำสัญญาไว้ว่าจะตั้งฐานผลิตในประเทศไทยด้วย ไม่มีข้อความที่ระบุว่าเราจะใช้วัคซีน m-RNA
วัคซีน m-RNA นำโดยอเมริกัน ฉีดสารพันธุกรรม m-RNA เข้าร่างกายโดยตรง วัคซีนอังกฤษใช้ไวรัสอีกตัวนึงเป็นตัวนำ (vector) พันธุกรรมของไวรัสโควิดเข้าไปให้ร่างกาย ถึงแม้ว่าไวรัสจะได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยผมก็เดาว่าพวกคุณหมออาวุโสทั้งหลายอยากได้วัคซีนจีนซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเก่าใช้เชื้อตายแล้ว มากกว่าวัคซีนสองประเภทแรก อีกไม่ช้าก็จะเห็นว่าเขาเถียงกันว่าอย่างไรบ้าง
พูดถึงความปลอดภัยตอนนี้เริ่มมีข่าวประปรายว่าคนอเมริกันและอังกฤษเกิดแพ้วัคซีนรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการคาดคะเนที่ไม่มีหลักฐานว่าทุก ๆ หนึ่งล้านคนที่ฉีดวัคซีน จะมีคนตายจากวัคซีนเท่านั้นเท่านี้คน ผมได้รับคำถามว่าเมื่อวัคซีนมีผลข้างเคียงถึงตายได้อย่างนี้เราควรจะฉีดกันไหม
คำอรรถาธิบายก็คือ ต้องเทียบความเสี่ยงต่าง ๆ ระหว่างการฉีดวัคซีนกับการไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกัน ในประเทศที่โรคระบาดรุนแรงอย่างในตะวันตก กลุ่มไม่ฉีดวัคซีนกำลังป่วยและตายเป็นใบไม้ร่วง เขาจึงเลือกวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูง มีความเสี่ยงอยู่บ้าง ฉีดไปแล้วจะปลอดภัยกว่าไม่ฉีดมาก อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน อย. หรือ FDA ของประเทศเหล่านั้นเขาขึ้นทะเบียนอนุญาตให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน ถ้าข้อมูลมากขึ้นว่าไม่ปลอดภัยอาจจะถอนใบอนุญาตก็ได้
ในประเทศที่มีโรคนี้อยู่น้อยมาก ความเสี่ยงจากจากโรคสูงกว่าความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนไม่มาก กรณีอย่างนี้ก็ต้องเน้นความปลอดภัยมากกว่าประสิทธิผล แต่ความเสี่ยงต่อโรคของแต่ละประเทศเปลี่ยนไป อย่างเช่นประเทศไทย เมื่อไตรมาสที่สาม เราก็ภูมิใจว่าควบคุมโควิดได้ดี ไม่มีวัคซีนก็ไม่เห็นจะเดือดร้อน แต่พอปลายไตรมาสที่สี่ เราก็เริ่มออกอาการ ภายในเดือนเดียวเรามีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าที่เคยมีมาสามไตรมาสรวมกัน รัฐบาลก็ต้องรีบใส่เกียร์เดินหน้าทางการเมือง สั่งซื้อวัคซีนมาฉีดไว้ก่อน คงจะประเมินแล้วว่าฉีดดีกว่ารอ
ในชีวิตของผมเห็นว่าทางวิทยาศาสตร์สาธารณสุขมีแต่เพิ่มชนิดวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ สมัยผมเริ่มทำงาน เรามีแต่วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก แล้วก็วัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรครุนแรงในเด็ก สมัยเรามีทั้งวัคซีนโปลิโอ หัด คางทูม ตับอักเสบบี วัคซีนสุกใส เพิ่มเติมสำหรับเด็ก เรายังมีวัคซีนฉีดเด็กหญิงวัยรุ่นป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุป้องกันปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งต้องฉีดทุกปีเพราะเชื้อเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเรื่อย) คนรุ่นต่อไปไม่รู้ว่าจะต้องรับวัคซีนอะไรเพิ่มเข้ามาอีก
วัคซีนที่ได้ผลในการป้องกันสูงแต่เลิกใช้แล้วก็มีบ้างแต่น้อย ที่เห็นมา คือ การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษหรือฝีดาษ วัคซีนตัวนี้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ การปลูกฝีเด็กสมัยก่อนทั่วโลก ทำให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ระดับโลก เชื้อฝีดาษที่มีอยู่ในตัวคนไข้ไม่สามารถแพร่ออกไปและสูญพันธุ์ในที่สดุ สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์เป็นจุดเปลี่ยนนโยบายการปลูกฝีของประเทศสหรัฐ เพราะเขาพบว่าการปลูกฝีทำให้เด็กตายมากกว่าการไม่ปลูกฝี เพราะฝีดาษไม่มีในอเมริกามานานแล้ว ต่อมาอีกไม่กีปี ฝีดาษก็หายไปจากโลก พอเวลาผ่านไปองค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่าคนทั่วโลกไม่ต้องปลูกฝีแล้ว ความสำเร็จระดับโลกแบบนี้มีน้อยมาก นอกจากฝีดาษแล้วก็จะเป็นเชื้อโปลิโอชนิดที่สอง ซึ่งสูญหายไปจากโลกแล้วและองค์การอนามัยเลิกใช้วัคซีนสำหรับป้องกันโปลิโอชนิดนี้แล้วเช่นกัน
แต่โควิดเป็นเชื้อดาวรุ่งพุ่งแรงครับ ความสามารถในการระบาดของเชื้อโควิดสูงมาก สายพันธุ์ใหม่ ๆ ยิ่งระบาดได้ดีกว่าเก่า วัคซีนจึงเป็นความหวังของคนทั้งโลก
วัคซีนกลุ่ม m-RNA ผลิตโดยบริษัทอเมริกันมีข้อมูลว่าประสิทธิผลการป้องกันโรคอยู่ที่ราว 90% ขึ้นไปวัคซีนของอังกฤษที่เราจะซื้อและตั้งโรงงานผลิต มีตัวเลขประสิทธิผลป้องกันราว 70% ถ้าเลือกการทดลองที่ทำตามแผน และ 90% ถ้าอ้างถึงการทดลองที่ทำผิดแผน เวลาใช้จริงรัฐบาลอังกฤษก็ทำนอกแผนไปกว่านั้นอีก โดยเว้นระยะฉีดระหว่างสองเข็มในห่างกว่าที่อยู่ในรายงานการทดลอง เหตุผลคือนวัคซีนผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการเนื่องจากติดเชื้อแพร่ระบาดรุนแรงมาก ส่วนของจีนก็มีการเคลมว่า 90% ยืนยันโดยประเทศบราซิล แต่ข้อมูลไม่ชัดเจนและไม่ยืนยันโดยโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ประเทศรวย ๆ เขาแย่งซื้อวัคซีน m-RNA ซึ่งราคาแพงเริดไปหมดแล้ว นอกจากแพงแล้วการจัดเก็บขนส่งก็ลำบากกว่าวัคซีนอังกฤษกับจีน รัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินใจซื้อวัคซีนสองประเทศหลัง
โอเค เป็นอันว่าเราน่าจะได้วัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย ราคาถูก ป้องกันได้ดีพอสมควร เหมาะสมกับเศรษฐกิจพอเพียงของเรา อีกไม่นานรัฐบาลก็จะมีนโยบายว่าจะฉีดใครก่อนหลัง และให้คนมีทางเลือกได้มากน้อยแค่ไหน ว่าจะฉีดเลยเมื่อถึงคิวหรือจะรอ หรือจะไม่ฉีดเลย สำหรับทางระบาดวิทยา เราต้องไม่ลืมว่าวัคซีนไม่ได้เอาไว้ป้องกันตัวผู้ฉีดอย่างเดียวนะครับ ยังมีประเด็นเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่ว่าไปแล้วด้วย การฉีดหรือไม่ฉีดของคนใดคนหนึ่งมีผลกระทบต่อความเสี่ยงของคนอื่นซึ่งทางภาษาเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า externality effect ถ้าอย่างไรแล้วเราก็ควรจะลงเรือลำเดียวกันไป รัฐบาลมีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษาอยู่เยอะ เขาว่าอย่างไรเราก็ว่ากันเถอะครับ ในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย ความสามัคคีน่าจะมีคุณค่าสูงกว่าอิสรภาพชองปัจเจกบุคคลในสถานการณ์อย่างนี้
คำถามสำคัญในใจอีกอย่างหนึ่งของทุกคน คือ เมื่อฉีดวัคซีนไปตามแผนของรัฐบาลแล้ว โควิดจะลดถอยลงมากน้อยเท่าไหร่ เราจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไหม วัคซีนจะคืนความสุขให้กับคนไทยได้จริงหรือเปล่า
วัคซีนจะยันโควิดไว้ได้นอกจากจะป้องกันการป่วยและตายแล้ว วัคซีนที่ดีต้องตัดวงจรการแพร่เชื้อด้วย
การตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อโควิดเป็นคนละส่วนกับการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ตัวเลขที่เราท่านทั้งหลายได้รับทราบที่กล่าวมาแล้วไม่ว่าจะ 90% หรือ 70% เป็นการป้องกันการเกิดโรค เรารู้ว่าโรคแพร่โดยผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่เรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกว่าฉีดวัคซีนไปแล้วจะป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโดยไม่ปรากฎอาการได้มากน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ การจะได้ตัวเลขว่าอาสาสมัครที่ทดลองมีการแพร่เชื้อมากน้อยเพียงไร ต้องออกแบบการวิจัยให้อาสาสมัครถูกแยงจมูกทุก 7-14 วัน ต่อเนื่องไปตลอดจนงานวิจัยสิ้นสุด ซึ่งยากที่จะทำได้ ต่างกับการประเมินการเจ็บป่วยที่มีอาการ อาสาสมัครเพียงแต่แจ้งอาการเป็นประจำ ถ้ามีอาการก็จึงค่อยไปแยงจมูกก็จะรู้ว่าป่วยจากโควิดหรือเปล่า
มีหลักฐานว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว ถ้าป่วยจะมีเชื้อโควิดอยู่ในร่างกายในระยะเวลาที่สั้นกว่ากลุ่มที่ป่วยโดยไม่ได้รับวัคซีน ตอนนี้ผมขอเหมาเอาไปก่อนว่าเปอร์เซ็นต์การป้องกันการป่วย ใกล้เคียงกับเปอร์เซ็นต์การป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการ เอาเปอร์เซ็นต์พวกนี้มาใช้พยากรณ์แบบง่าย ๆ ว่าเราจะยันโควิดอยู่ไหม
การยันโควิดอยู่ต้องทำให้ค่า R0(อาร์ศูนย์) ลดลงให้น้อยกว่า 1
ทบทวนนิดนึงสำหรับคนที่ไม่ทราบหรือจำไม่ได้ว่า R0คืออะไร มันคือตัวเลขที่บอกว่าถ้ามีคนหนึ่งในชุมชนมีเชื้ออยู่ เข้าจะแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้กี่คน ค่า R0ขึ้นกับค่าอีกสามค่า คือ อัตราการสัมผัสระหว่างคนมีเชื้อกับคนที่ไม่มีเชื้อ (contact rate --- c) โอกาสที่เชื้อจะถ่ายทอดจากการสัมผัสแต่ละครั้ง (probability of transmission --- p) และ ระยะเวลาที่บุคคลคนนั้นจะมีเชื้ออยู่ (duration of infectiousness --- d)
ค่าอาร์ศูนย์เป็นผลคูณของทั้งสามค่า หรือ R0 = c x p x d
ถ้าอาร์ศูนย์ต่ำกว่า 1 เชื้อเข้าไปในร่างกายใครก็จะติดคนต่อไปได้น้อยกว่าหนึ่งคน ในที่สุดคนติดเชื้อก็จะหมดไป
บทบาทของวัคซีนต่อค่าอาร์ศูนย์มีสองส่วนใหญ่ บทบาทอย่างแรกเป็นบทบาทหลัก คือ ลดค่า p เช่น อย่างที่ผมโมเมข้างบนว่าวัคซีนป้องกันโรคได้ 70% คงจะลดโอกาสในการติดเชื้อของฝ่ายรับเชื้อลงได้ 70% เหลือโอกาส 30%
บทบาทของวัคซีนประการที่สอง คือ วัคซีนลดระยะเวลาการแพร่เชื้อของผู้แพร่เชื้อ (d) ขออนุญาตโมเมสมมติว่าคนที่ได้รับวัคซีนแต่ยังติดเขื้อในที่สุดจะมีเชื้อตกค้างอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานเท่ากับ 70% ของคนที่ติดเชื้อโดยไม่ได้วัคซีน ค่า d จีงเหลือ 70%
ถ้าค่า contact rate คงที่ไม่เปลี่ยนนโยบาย social distancing รวมแล้ววัคซีนก็จะลดค่าอาร์ศูนย์ลงไปเหลือ R0 x 0.3 x 0.7 = .21 R0หรือราวหนึ่งในห้าจากค่าเดิม ข้อสมมตินี้ คือ ฉีดวัคซีนได้ครบทุกคนในประชากรทั้งหมด แต่ประเทศไทยกะว่าปีนี้เราจะฉีดวัคซีนได้ครึ่งนึงของประชากร ค่าอาร์ศูนย์ของเราก็ต้องถูกเฉลี่ยระหว่างกลุ่มที่ได้ครบซึ่งตอนนี้เหลืออาร์ศูนย์เท่ากับ .21 R0แล้ว กับกลุ่มที่ยังไม่ได้วัคซีนซึ่งยังมีอาร์ศูนย์อยู่เต็มแม็กคืออาร์ศูนย์เท่ากับ 1 คิดเฉลี่ยตามประสาลูกแม่ค้า ค่าอาร์ศูนย์ขั้นสุดท้ายคงจะอยู่ประมาณ R0 (.5x.21 + .5x1) = 0.605 R0หรือลดอาร์ศูนย์ลงจากเดิมได้สี่สิบเปอร์เซ็นต์
ฉีดวัคซีนที่ป้องกันการแพร่เชื้อได้ 70% ให้กับคนไทยครี่งประเทศ จะลดอาร์ศูนย์ได้เหลือ 40% แค่นี้เพียงพอไหมที่จะสยบเชื้อโควิดในไทยไม่ให้แผงฤทธิ์มากอย่างที่เป็นอยู่ คำตอบอยู่ที่ว่าตอนนี้อาร์ศูนย์เราอยู่ที่เท่าไหร่ และวันข้างหน้าเมื่อเปิดประเทศแล้ว ค่า c หรือ contact rate จะมีส่วนเพิ่มอาร์ศูนย์เท่าไหร่
ถ้าค่า c สูงมากอยู่แล้ว ประชาชนไม่สวมหน้ากาก บุกยึดรัฐสภา ค่าอาร์ศูนย์สูงปรี๊ดน่าจะมากกว่า 2 จำนวนคนป่วยคนตายมากขึ้นทุกวัน การลดลง 40% ไม่ทำให้โรคสงบได้หรอกครับ คอยดูก็แล้วกันว่าในอเมริกาและอังกฤษการฉีดวัคซีนจะลดการระบาดของโรคได้อย่างที่คาดหรือเปล่า
สำหรับประเทศเราที่วางแผนจะเปิดประเทศมากขึ้น ในสูตรที่ว่า R0 = c x p x d วัคซีนไปลดค่า p และค่า d แล้วค่า c หรือ contact rate ล่ะ จะเป็นยังไง
ค่า c ขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจกครับ ประเทศจะต้องเปิดให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างผู้คนมากขึ้น มีกิจกรรมต่าง ๆ กลับไปเป็นแบบเดิมให้ได้มากที่สุด ค่า c ก็ต้องสูงขึ้นก็ทำให้ ถ้า c สูงขึ้น 2 เท่า แต่ วัคซีนลดค่า p กับ d ลงได้รวมกัน แค่ 40% สุดท้ายค่า R0ก็กลับสูงขึ้นเกิน 1 เกิดการระบาดระลอกใหม่ ตรงนี้บอกรัฐบาลและประชาชนว่าฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิผลแค่ 70% และครอบคลุมแค่ครึ่งนึงของประชาชนแล้วเปิดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ แบบก่อนโควิด ท่าทางว่าโควิดคงจะไม่หายไป แล้วเศรษฐกิจก็อาจจะกลับมาย่ำแย่อีก อนิจจา ...
แล้วถ้าเราโชคดี วัคซีนลด p ได้ 90% เหลือ 10% ของเดิม และลดระยะเวลาของการแพร่เชื้อ d ได้ครึ่งนึงโดยที่เราฉีดครอบคลุมประชากรได้ครี่งนึงเหมือนเดิมล่ะ เมื่อเปิดเมืองอีกครั้งสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
โดยรวบรัดตัดความ ค่า R0 ใหม่ก็จะเท่ากับ 2 x (.5 x .1 x .5 + .5 x1 ) = 1.05 หรือประมาณ 1 นั่นคือยังมีโรคโควิดอยู่ประปราย ไม่ระบาด และไม่หายไป
สรุปแล้วปลายปีนี้ ถ้าโชคดีวัคซีนได้ผลถึง 90% เราก็พอจะเปิดกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากขึ้น แต่อย่าเพิ่งเปิดให้ค่า c สูงไปกว่านี้นะครับ
ก่อนจากกันวันนี้ ตัวอย่างข้างบนผมคำนวณโดยเหมารวมว่าคนที่ได้รับวัคซีนกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีนมีค่าอาร์ศูนย์ ณ จุดเริ่มต้นเท่ากัน ถ้ารัฐบาลดำเนินการแบบประเทศอื่นอีกหลายประเทศ คือไปเลือกฉีดวัคซีนให้กลุ่มอาร์ศูนย์ต่ำซะก่อน ให้กลุ่มที่มีอาร์ศูนย์สูงในปีหน้า อาร์ศูนย์จะลดเฉพาะกลุ่มที่มีอาร์ศูนย์ต่ำ อาร์ศูนย์โดยเฉลี่ยยังสูงอยู่โรคก็คงระบาดต่อไปทั้งปี
ท่านที่อ่านการคำนวณข้างบนรู้เรื่อง และชอบคำนวณช่วยตรวจสอบด้วยนะครับว่าผมคิดผิดตรงไหน อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด คำพระท่านว่า “พิจารณาแล้วจึงบริโภค”
น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยลองเอาโจทย์ข้อนี้ไปคิดต่อดูนะครับว่าในเมืองไทยเราควรจะเริ่มให้วัคซีนแก่กลุ่มไหนดี ถ้าเมืองไทยจึงจะลดค่าอาร์ศูนย์ของโควิดได้เร็ว ๆ เราจะได้ไม่ต้องเรียนออนไลน์กันนานเกินไป
----------------------------------
อ้างอิงรูปภาพจาก https://research.psu.ac.th/th/index.php/contest-news/317-344
- 27 views