ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับประชาชนตรวจฟรี! ในโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หลากหลาย สนองพระปณิธาน ใน ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ชูเทคโนโลยีตรวจด้วย CT Colonography และส่องกล้อง Colonoscopy เพิ่มประสิทธิภาพ
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยอยู่ใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งในประเทศไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.4 เท่า! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัว โครงการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นโครงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้กับประชาชนไทย อายุระหว่าง 50-70 ปี จำนวน 1,300 ราย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนองพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีเยี่ยมเทียบเท่าระดับสากล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยถึงพระกรุณาธิคุณใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมีพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยทรงมีพระวิสัยทัศน์ในการวางรากฐานการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีพระประสงค์ที่จะยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย เน้นการพัฒนานวัตกรรมค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล และนำมาปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในทุกถิ่นฐานอย่างยั่งยืน รวมทั้งพระปณิธานอันแน่วแน่ในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องทนทุกข์จากโรคมะเร็ง ควบคู่กับการส่งเสริมป้องกันมะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสรอดชีวิต มีอายุยืนยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข กล่าวถึงที่มาของ โครงการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หลากหลายว่า ที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งในหลากหลายชนิด และเคยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมาแล้วถึง 2 โครงการด้วยกัน ได้แก่ โครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ ปี 2552 โครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และโครงการบำเพ็ญพระกุศลฯ ปี 2556 โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่กลุ่มที่ 2 โดยจากการตรวจประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 50-65 ปี จำนวนทั้งสิ้น 3,231 ราย พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จำนวน 30 ราย เป็นระยะที่ 1 และ 2 ที่ยังไม่ได้มีการแพร่กระจายประมาณ 80-90% ในโครงการยังมีการตรวจพบเป็นติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก จำนวน 701 ราย ภายหลังให้การรักษาทำให้ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ต่างจากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยผ่านการตรวจคัดกรองซึ่งจะเป็นโรคในระยะแพร่กระจายถึง 70-80% ลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายประสัมพันธ์และการตลาด และคณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีด้านภาพวินิจฉัยที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำเข้ามาใช้ในการตรวจในโครงการนี้ว่า การตรวจหารอยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกวิธีหนึ่ง คือ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography) ซึ่งสามารถสร้างภาพของลำไส้ใหญ่ได้คล้ายกับการส่องกล้อง และมีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถค้นหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ขนาด 6 มิลลิเมตร ที่ค่า Sensitivity 82.9%, Specificity 91.4% และติ่งเนื้อขนาด 10 มิลลิเมตร ที่ค่า Sensitivity 87.9%, Specificity 97.6% ซึ่งติ่งเนื้อเหล่านี้ถ้าทิ้งนานไปอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ และมีเทคนิคการตรวจที่สามารถลดการตรวจจับผิดว่าอุจจาระที่ติดค้างในลำไส้เป็นติ่งเนื้อ ส่งผลให้การตรวจมีความแม่นยำเพิ่มขึ้น และวิธีการตรวจ CT Colonography นี้ยังสามารถใช้เสริมการตรวจโดยวิธีส่องกล้องในการดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่าง ๆ ซึ่งมีลำไส้อุดตันและไม่สามารถผ่านกล้องเข้าไปได้ นอกจากนี้ ยังสามารถดูผนังด้านนอกของลำไส้ใหญ่ และอวัยวะภายในช่องท้องซึ่งไม่สามารถเห็นด้วยการส่องกล้องได้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บัญชร ศิริพงศ์ปรีดา หัวหน้าโครงการฯ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ได้กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการนี้ว่าเป็นโครงการศึกษาประสิทธิภาพของวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีทั้งการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจปัสสาวะ การตรวจทางรังสี การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยในโครงการนี้จะมุ่งการตรวจหลัก 2 วิธี คือการตรวจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (เครื่องเอกซเรยคอมพิวเตอร์ชนิดความเร็วสูง 256 slice spectral computed tomography-CT) หรือที่เรียกว่า CT Colonography และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการทำ Colonoscopy ซึ่งจะมีการศึกษาควบคู่ไปกับวิธีการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสมกับประชากรที่จะมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความสัมพันธ์ของอาหารที่รับประทาน และแบคทีเรียในทางเดินอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้จะถูกนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อไป
"สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร โดยทั่วไปเมื่อซักประวัติครอบครัว พบ 15% ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ก็มีที่พบโดยไม่สัมพันธ์กับประวัติครอบครัว เพราะมะเร็งเกิดขึ้นจากเซลล์ในร่างกายมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ เกิดได้ทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวัน มลภาวะและสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนที่เสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ การรับประทานอาหารก็มีผลเช่นกัน การศึกษาในต่างประเทศมีพวกแฮมหรือไส้กรอก แต่ในเมืองไทยก็มีอาหารจำพวก แหนม หมูยอ ลูกชิ้น และกุนเชียง เรากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าอาหารกลุ่มนี้ไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคหรือไม่"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์บัญชร ยังกล่าวถึงการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยว่า ระยะแรกที่ส่องกล้องแล้วเจอความผิดปกติน้อย ๆ ก่อนเป็นมะเร็ง เห็นเป็นติ่งเนื้อตอนส่องกล้องก็สามารถตัดติ่งเนื้อได้โดยใช้เวลาเพียง 15-30 นาที ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรก แค่ผิวตื้น ๆ ก็ส่องกล้องตัดได้เช่นกัน การรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่คือการผ่าตัด ซึ่งจะตัดเฉพาะลำไส้ท่อนที่มีปัญหา ในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แต่ถ้าแพร่กระจายแล้วก็ต้องผ่าตัด ตามด้วยเคมีบำบัดหรือฉายแสงขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง ในกรณีที่เป็นมาก อาจต้องตัดลำไส้ใหญ่ทิ้ง ขึ้นอยู่กับความผิดปกตินั้นว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน โดยลำไส้ใหญ่หน้าที่คือ ดูดซึมน้ำ เก็บอุจจาระก่อนขับถ่าย ถ้าตัดลำไส้ใหญ่ออกก็จะมีผลทำให้ถ่ายบ่อย และอาจลุกลามเพิ่มความเสี่ยงไปถึงทวารหนักได้ด้วย ดังนั้น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และมาตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะมะเร็งรู้เร็วรักษาได้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาตามมาตรฐานจะมีผลการรักษาดีกว่าการรักษาในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้วเป็นอย่างมาก และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ การคัดกรองยังช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็ง และให้การรักษาที่เหมาะสมก็จะลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งในผู้รับการตรวจและลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย
โครงการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หลากหลาย เป็นโครงการที่จะให้บริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หลากหลายวิธีทั้งการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจปัสสาวะ การตรวจทางรังสี การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเปิดรับสมัครให้ประชาชนชายไทย อายุระหว่าง 50 – 70 ปี ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง และไม่เคยส่องกล้องลำไส้ใหญ่มาก่อนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,300 ราย สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ crcscreen.cra.ac.th ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เวลา 14:00 น. เป็นต้นไป จนกว่าจะเต็มจำนวน หรือสมัครทางโทรศัพท์ที่เบอร์ 0-2576-6000 ต่อ 8421-4 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0-2576-6000 ต่อ 8411 ในวันและเวลาราชการ
- 5621 views