กรมควบคุมโรคแจงไทม์ไลน์กลุ่มพยาบาล 5 รายติดโควิด ที่แท้รายที่ 4 ติดก่อน เหตุจากการตรวจเชื้อ-วัดไข้ผู้ถูกกักตัว ช่วงยังไม่ป่วย จากนั้นแพร่เชื้อยังเพื่อนร่วมงานนอกเหนือเวลาปฏิบัติหน้าที่ พบมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ขณะที่สบส.กำชับ ASQ และรร.คู่สัญญา
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความก้าวหน้าในการสอบสวนโรคกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิดในสถานกักกันทางเลือก ว่า จากการสอบสวนโดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (ศปคม.) ของกรมควบคุม โรคร่วมกับกรุงเทพมหานครในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยรายที่ 1 (หญิงอายุ 26ปี ) เริ่มป่วยวันที่ 3 ธ.ค. มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จึงไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 และพบเชื้อฯ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรายงานเข้าระบบเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ต่อมาเมื่อพบรายแรกแล้วก็มีการสอบสวนและค้นหาผู้ติดเชื้อรายอื่นเพิ่มเติมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดคือเพื่อนร่วมงานทำให้สามารถตรวจพบรายที่ 2 (หญิง 40 ปี) และที่ 3 (หญิง 32ปี) และรายที่ 4 (หญิงอายุ 25 ปี) ตามมา โดยทั้งนี้ในรายที่ 2 และที่ 3 เริ่มป่วยวันที่ 4 ธ.ค.และวันที่ 5 ธ.ค.ตามลำดับ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการสอบสวนโรคเพิ่มเติมบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิดพื้นที่ กทม. 5 ราย ซึ่งปฏิบัติงานในสถานกักกันทางเลือก หรือ ASQ นั้น พบว่า รายที่ 4 มีอาการเริ่มป่วยก่อนรายอื่นๆ แต่ป่วยเล็กน้อย คือ มีน้ำมูก คัดจมูก มีเสมหะ โดยเริ่มป่วยในวันที่ 29 พ.ย.2563 ซึ่งพบว่าช่วงวันที่ 24-27 พ.ย. รายที่ 4 ได้ไปวัดไข้ผู้ป่วยยืนยันทุกวัน และเข้าไปในห้องผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยที่ไปวัดไข้นั้น ช่วง ณ เวลานั้นยังไม่พบเชื้อโควิด แต่มีการสว็อปเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ ที่สำคัญผู้ป่วยที่ไปทำการวัดไข้เป็นครอบครัว 3 คนพ่อแม่ลูกติดเชื้อทั้งหมด
“ประเด็นคือ บุคลากรทางการแพทย์รายที่ 4 พบว่า เป็นเพื่อนรูมเมทเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อรายที่ 2 และในวันที่ 28 พ.ย. ผู้ป่วยรายที่ 4 ได้รับประทานอาหารร่วมกันกับบุคลากรทางการแพทย์รายที่ 1 และรายที่ 2 ขณะที่วันที่ 1 ธ.ค.63 ผู้ป่วยรายที่ 1 ส่งเวรกับผู้ป่วยรายที่ 3 และวันเดียวกัน ผู้ป่วยรายที่ 5 พบกับผู้ป่วยรายที่ 1 และรายที่ 3 ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายที่ 5 ไม่มีอาการ สรุปคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากบุคลากรทางการแพทย์ 1 รายติดเชื้อใน ASQ และแพร่เชื้อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานรายอื่นๆ โดยเป็นการแพร่เชื้อนอกเหนือเวลาการปฏิบัติหน้าที่” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อทั้งหมด เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 51 คน เสี่ยงต่ำ 229 คน รวมแล้ว 280 คน ทั้งหมดไม่พบเชื้อ และทางโรงพยาบาลเอกชนยังได้ตรวจเพิ่มเติมอีก465 คนก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน โดยทั้งหมด 745 คน ไม่พบเชื้อ แสดงว่าเหตุการณ์นี้การแพร่เชื้อหยุดที่บุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 5 ราย
เมื่อถามว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อใน ASQ มาจากความประมาทในเรื่องการสวมใส่ชุดป้องกันไม่รัดกุมหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ ซึ่งเป็นความผิดพลาดระดับบุคคล หรือ human error คล้ายๆกรณีความผิดพลาดที่ถูกเข็มตำ ซึ่งไม่ได้เกิดบ่อย อย่างปกติการสว็อปเชื้อ 100 คน จะเจอก็ไม่ถึง 1% แต่จังหวะการติดครั้งนี้เข้าไปตรวจครอบครัว ซึ่งติดเชื้อทั้ง 3 คน ทำให้มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม รายที่ 4 เมื่อรับเชื้อแล้วมีอาการป่วยเล็กน้อย คิดว่าตัวเองป่วยเป็นหวัดธรรมดา จึงไปปฏิบัติงานและคลุกคลีกับเพื่อน ขณะนี้ต้นสังกัดได้กำชับให้บุคลากรทุกคนระวังเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ล่าสุดทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้มีการประชุมคอนเฟอเรนซ์วันนี้(9ธ.ค.) เพื่อกำชับสถานที่กักกันทางเลือก รวมทั้งโรงพยาบาลคู่สัญญาแล้ว
“ส่วนกรณีมีการส่งต่อข้อความทางโซเชียลมีเดียว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ในผับย่านเซ็นทรัลเวิลด์ นั้นขอยืนยันว่าจากรายงานพบผู้ติดเชื้อในกทม. มีเพียง 8 ราย คือ 3 รายที่มีความเชื่อมโยงกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และบุคลากรการแพทย์ 5 รายนี้เท่านั้นยังไม่พบรายงานในรายอื่นๆ แต่หากประชาชนมีข้อมูลรายละเอียดต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน 1422” นพ.โสภณ กล่าว
- 28 views