ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ข่าวปลอมกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่งแต่ด้วยประเด็นที่แตกต่างออกไปจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งข่าวปลอมส่วนใหญ่โฟกัสอยู่ที่เรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนในระหว่างการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกาข่าวปลอมโฟกัสที่เรื่องการเมืองเป็นหลัก แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองมีผลต่อการควบคุมการระบาดของโรคและการระบาดของโรคก็มีผลต่อการเมืองเช่นกัน

               สิ่งที่น่าสนใจก็คือแง่มุมด้านประชากรศาสตร์ของการแพร่ระบาดของข่าวปลอม มีมายาคติที่แพร่หลายในวงกว้างเรื่องคนสูงวัยมักจะแพร่ข่าวปลอมมากกว่าคนช่วงวัยอื่น ความเชื่อแบบนี้อาจะอิงกับการด่วนสรุปว่าคนสูงวัยไม่คุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ต ส่วนคนรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันต่อข่าวปลอมมากกว่าเพราะเติบโตมากับโซเชียลมีเดีย แต่มายาคตินี้มีความถูกต้องแค่ไหน

               มีการศึกษาหลายชิ้นที่เจาะลงไปถึงความเกี่ยวข้องระหว่างแง่มุมด้านประชากรศาสตร์ ทั้งอายุ การศึกษา และอุดมการณ์ทางการเมืองที่อาจจะมีผลต่อการรับข้อมูลที่บิดเบี้ยว แต่การศึกษาเหล่านี้มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไม่น้อย ในบทความนี้เราจะพูดถึงแง่มุมด้านอายุต่อการรับข่าวสารที่เป็นเท็จกันก่อนว่ามีมิติที่ซับซ้อนแค่ไหนบ้าง

               เมื่อเดือนม.ค. พ.ศ. 2562 มีการเผยแพร่การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Science Advances พบว่าชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 65 ปีหรือที่เรียกว่าเบบี้บูมเมอร์ (Baby boomers) มีแนวโน้มที่จะแชร์ลิงก์ข่าวปลอมบน Facebook มากกว่าคนอเมริกันที่อายุน้อยกว่าที่เกิดหลังปี 2539 หรือที่เรียกว่า "เจนซี/เจนแซด" (Generation Z)

               ข้อมูลการสำรวจในปี 2559 แสดงให้เห็นว่าคนยุคเบบี้บูมเมอร์แชร์บทความข่าวปลอมบน Facebook มากกว่าคนอเมริกันที่อายุน้อยกว่าอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีเกือบ 7 เท่า งานวิจัยย้ำว่า "การค้นพบที่ชัดเจนที่สุดของเราคือชาวอเมริกันที่มีอายุมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันข่าวปลอมให้กับเพื่อนใน Facebook ของพวกเขา (1) 

               รายงานนี้ถูกอ้างอิงถึงในสื่อและอาจจะมีส่วนช่วยตอกย้ำอคติเกี่ยวกับผู้สูงวัยว่าตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้ง่าย

               จนกระทั่งในเดือน พ.ค. พ.ศ. 2563 มีบทความชิ้่นหนึ่งใน MIT Technology Review อ้างการวิจัยชิ้นหนึ่งจากปี 2562 ที่ระบุว่าผู้สูงอายุแชร์ข่าวปลอมและลิงก์ที่น่าสงสัยมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ แต่จากการศึกษาในเดือนพ.ค. โดยนาเดีย บราเชียร์ (Nadia Brashier) นักวิจัยดุษฎีบัณฑิตที่แผนกจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่ามีคำอธิบายหลักๆ 2 ข้อเกี่ยวกับสาเหตุที่ผู้สูงอายุแชร์ข้อมูลที่ผิด ๆ ข้อแรกคือสมมติฐานที่ว่าคนสูงวัยมีการรับรู้ที่ถดถอยลง สมมติฐานข้อที่สองเกิดจากการมีอคติต่อคนวัยนี้ ซึ่งทั้งสองข้อไม่ได้อ้างอิงกับข้อมูลเชิงสถิติ (2)

               แต่บราเชียร์ชี้ว่าสมตติฐานที่ว่าคนสูงวัยมีการรับรู้ที่ถดถอยลงนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะลืมว่าเรียนรู้ข้อมูลจากที่ใด แต่ความคล่องแคล่วก็ยังคงเหมือนเดิมและความรู้ที่สะสมมาหลายทศวรรษช่วยให้พวกเขาประเมินข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงได้

               บราเชียร์กล่าวว่าความสามารถในการรับรู้ส่วนต่างๆ ลดลงในระดับที่แตกต่างกัน แต่ทักษะการรับรู้บางอย่างไม่ได้ลดลงเลย  และทักษะที่ผู้สูงวัยเก็บรักษาเอาไว้ช่วยเป็นสิ่งชดเชยกับที่พวกเขาประสบ ซึ่งหมายความว่าทักษะชีวิตที่ผ่านมาช่วยให้พวกเขาประเมินข้อมูลได้แม่นยำขึ้น ดังนั้นการเสื่อมถอยของการรับรู้ของคนสูงวัยจึงไม่สามารถใช้อ้างเป็นสาเหตุที่คนวัยนี้เชื่อข่าวปลอมได้เต็มที่

               บราเชียร์บอกว่าวัยผู้ใหญ่ตอนปลายเป็นวัยที่มีความไว้วางใจที่มากขึ้น และเป็นวัยที่ยากลำบากในการตรวจจับการโกหก และการเน้นความถูกต้องน้อยลงเมื่อสื่อสาร เมื่อบวกกับการที่คนสูงวัยเพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียทำให้คนกลุ่มนี้แยกแยะไม่ออกว่าอันไหนเป็นคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโฆษณาหรืออันไหนที่มีการบิดเบือนเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งการบิดเบือนแบบนี้คือคุณลักษณะหนึ่งของสังคมยุคหลังความจริง (Post-truth) (3)

               ยุคหลังความจริง (Post-truth) คือโลกที่ความจริงได้เลือนหายไปพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้นิยามคำๆ นี้ว่า  "(ยุคหลังความจริง) เกี่ยวข้องกับหรือแสดงถึงสถานการณ์ที่ข้อเท็จจริงเชิงวัตถุวิสัยมีอิทธิพลน้อยกว่าการดึงดูดใจทางอารมณ์และความเชื่อส่วนบุคคลในการสร้างความคิดเห็นสาธารณะ" (4) หรือในแง่หนึ่งก็คือการที่ข้อเท็จจริงร่วมกันถูกทำให้สั่นคลนด้วยความจริงทางเลือก (Alternative facts) หรือแม้แต่ข้อมูลที่ผิดๆ

               คำๆ นี้ถูกใช้กันมากขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 ซึ่งมีการแพร่หลายของข่าวปลอมในวงกว้างจนทำให้สาธารณชนเกิดความไขว้เขว และเมื่อดอนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้ว เมื่อถูกซักถามถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดพลาด สมาชิกในรัฐบาลของเขายังประดิษฐ์คำว่า "ความจริงทางเลือก" ในการอ้างถึงข้อมูลที่ผิดพลาดดังกล่าว

               ในโลกที่ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือนจนยากจะแยกแยะ ทำให้คนรุ่นสูงวัยที่ให้ความเชื่อถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสูงกว่าวัยอื่นตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ไม่ใช่เพราะพวกเขามีประสิทธิภาพในการรับรู้หรือเรียนรู้เสื่อมถอยลง พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจสิ่งรอบตัวที่มีสูงมากนั่นเอง ไม่ใช่เพราะพวกเขาขาดทักษะ เช่นที่บราเชียร์อ้างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่อ้างว่าผู้สูงอายุสามารถประเมินความถูกต้องของหัวข้อข่าวที่นำมาประเมินในแบบสำรวจได้ดีกว่า

               การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงรุ่นวัยว่ามีบทบาทสำคัญต่อการแพร่ขาวปลอมอย่างไร แต่สิ่งสำคัญก็คือการเข้าใจว่าทำไมคนสูงวัยถึงตกเป็นเหยื่อขาวปลอมง่ายกว่าคนรุ่นอื่น และเข้าใจว่าพวกเขาไม่ใช่คนหลงยุค แต่เพราะความปลิ้นปล้อนของยุคสมัยหลังความจริงทำให้คนสูงวัยที่เกิดในยุคที่ความจริงคือความจริง จึงเชื่อมั่นใจสิ่งต่างๆ มากกว่า มีภูมิคุ้มกันต่ำว่าคนรุ่นที่เกิดในยุคหลังความจริงที่หลายสิ่งหลายอย่างถูกตั้งคำถามและความชอบธรรมของมันในฐานะที่เป็น "Fact"

               ตัวอย่างของการมีภูมิคุ้มกันของคนรุ่นใหม่ต่อข่าวปลอมก็คือ จากการสำรวจโดย College Reaction บริษัทสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาร่วมกับสำนักข่าว Axios พบว่า 83% ของนักศึกษาเจนซีกล่าวว่าพวกเขาได้รับข่าวสารส่วนใหญ่จากโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ แม้ว่าจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข่าว แต่คนหนุ่มสาวก็ไม่เชื่อในโซเชียลมีเดีย มีเพียง 7% ที่ระบุว่าโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด (5)

               จะเห็นได้ว่าในขณะที่คนรุ่นก่อนมีความเชื่อมั่นสูงในสิ่งรอบตัว คนรุ่นใหม่มีความกังขาในสิ่งรอบตัวมากกว่า แต่คนรุ่นใหม่ก็มีความมั่นใจเหมือนกัน นั่นคือความมั่นใจว่าพวกเขามีความสามรถในการดักจับข่าวปลอม การสำรวจโดย College Reaction/Axios ยังพบด้วยว่า 69% ของนักศึกษาเจนซีกล่าวว่าเป็นเรื่องค่อนข้างหรือง่ายมากที่พวกเขาจะแยกแยะข่าวจริงออกจากข้อมูลที่ผิด ครึ่งหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาคิดว่า "ยากมาก" สำหรับคนรุ่นเก่าที่จะแยกแยะข่าวปลอม

               ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงรู้ทันโซเชียลมีเดียมากกว่า? Axios ชี้ว่า "ในฐานะที่เป็นคนรุ่นแรกที่เติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดียเจนซีมีความเช้าใจมากกว่าในเรื่องการสร้างเนื้อหาและการมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาออนไลน์ทำให้พวกเขารู้ทันข้อมูลปลอม จากการสำรวจพบว่านักศึกษาเกือบครึ่งหนึ่ง (46%) กล่าวว่าพวกเขาตั้งใจกดไลค์หรือคอมมเนต์แสดงความคิดเห็นหรือแชร์เนื้อหาเพื่อฝึกให้อัลกอริทึมให้ข้อมูลและสื่อที่คล้ายกันๆ ซึ่งการบงการอัลกอริทึมแบบนี้เป็นวิธีการพื้นฐานในการทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเข้าถึงข้อมูลที่ตนคุ้นเคย ซึ่งก็คือแหล่งที่เชื่อถือได้ (5)

               หันกลับมาดูที่คนรุ่นสูงวัย บราเชียร์บอกว่าการแก้ปัญหาด้วยการทำแพลตฟอร์มเช็คข่าวปลอมยังไม่พอและยังอาจให้ผลตรงกันข้ามด้วย เพราะบางแพลตฟอร์มนำเอาข้อมูลเท็จมาจับคู่กับข้อมูลจริงเพื่อเทียบกับซึ่งการทำแบบนี้เป็นการย้ำให้คนสูงวัยยิ่งเชื่อในข่าวปลอมซึ่งเรื่องนี้มีผลการศึกษามาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว

               ดังนั้นการเพิ่มทักษะด้านความรู้ดิจิทัลให้กับคนสูงวัยจึงไม่พอ แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างการให้ความรู้เรื่องดิจิทัลกับอุปนิสัยของคนสูงวัยที่ต่างอย่างมากกับคนรุ่นใหม่ เพราะขณะที่คนรุ่นเยาว์วัยกว่ารู้ทันโลยุคหลังความจริงและสร้างชุมชนที่มีความการรู้เท่าทันโลกยุคหลังความจริงที่ร่วมกันสร้างทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับ AI และ Algorithms แต่คนรุ่นเก่ามีชุมชนออนไลน์ในวงจำกัดมากและพวกเขาค่อนข้างที่จะเชื่อคนที่พวกเขารู้จักจริงๆ เป็นตัวเป็นตนมากกว่า (2)

 

 

อ้างอิง

1. Guess, Andrew et al. Less than you think: Prevalence and predictors of fake news dissemination on Facebook. Science Advances 09 Jan 2019:0 Vol. 5, no. 1, eaau4586 DOI: 10.1126/sciadv.aau4586

2. Ohlheiser, Abby. (May 26, 2020). "Older users share more misinformation. Your guess why might be wrong.". MIT Technology Review. Retrieved 2020-11-14.

3. Brashier NM, Schacter DL. Aging in an Era of Fake News. Current Directions in Psychological Science. 2020;29(3):316-323. doi:10.1177/0963721420915872

4. "Word of the Year 2016 is..." Oxford Dictionaries. Retrieved 2019-05-20.

5. Kight, Stef W. (Sep 15, 202). "Gen Z is eroding the power of misinformation". Axios. Retrieved 2020-11-14.

 

ภาพประกอบจาก Nancy Wong / wikipedia