กรมกิจการเด็กฯ และ สสส.หนุนพัฒนาระบบส่งเสริมจิตอาสาเพื่อเด็กในสถานสงคราะห์นำร่อง 5แห่ง เผย 2 ปีมีอาสาสมัคร593 คน เกิดอาสาระยะยาวถึง 246 คน ศึกษาพบ กระบวนการอาสาสมัครช่วยสร้างความสุข สุขภาวะ ทักษะชีวิต เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น ปรับตัวได้ กระตุ้นสังคมร่วมงานจิตอาสาเพิ่ม
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าว กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการกำหนดมาตรการกลไก ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการคุ้มครองช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็กและเยาวชน เล็งเห็นข้อจำกัดในสถานสงเคราะห์ฯ เนื่องจากมีจำนวนพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ การมีจิตอาสามาเป็นอาสาสมัครมาช่วยเป็นสิ่งที่จำเป็นและช่วยเติมเต็มการดูแลเด็กอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาสาสมัครแต่ละคนมีความรู้ และความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย สร้างแรงบันดาลใจ ทั้งยังผ่านหลักสูตรการอบรม ซึ่งอาสาสมัครมีส่วนสำคัญช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กในสถานสงเคราะห์ให้เติบโตมีคุณภาพในอนาคต ทั้งนี้ หากโครงการนี้แล้วเสร็จ ดย. รับจะนำไปดำเนินการต่อเนื่องแน่นอน
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุน “โครงการพัฒนาแหล่ง(ศูนย์)เรียนรู้และส่งเสริมจิตอาสาเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์” ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อพัฒนาสถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครอง 5 แห่ง ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนรังสิต สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านเฟื่องฟ้า และสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ เป็นพื้นที่นำร่องศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หน่วยงานและประชาชนที่สนใจ ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนงานอาสาสมัครเพื่อเด็ก เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของคนทำงานอาสาเพื่อเด็ก ในการพัฒนาสุขภาวะและทักษะชีวิตที่เหมาะสมให้กับเด็ก เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในสถานสงเคราะห์ผ่านจิตอาสาที่ทำงานอาสาสมัคร ซึ่งจะมีการขยายแนวความคิด ระบบกลไก และตัวอย่างงานอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ให้เป็นแบบอย่างและกระตุ้นให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในงานจิตอาสา โดยจะมีการขยายผลอีก 3 แห่ง คือ บ้านธัญพร บ้านมหาราช และสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง
น.ส.นริศรา อารมณ์ชื่น หัวหน้าโครงการพัฒนาแหล่ง(ศูนย์)เรียนรู้ฯ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานสามารถพัฒนาโครงสร้างระบบบริหารจัดการและบุคลากรแหล่ง(ศูนย์) เรียนรู้ฯ เพื่อสร้างสุขภาวะองค์รวมที่ดีให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครอง คือ มีคณะกรรมการประจำสถานสงเคราะห์ ที่ทำหน้าที่พบปะกันประจำปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีการเปิดรับ คัดกรองและปฐมนิเทศอาสาสมัครแบบ 1 ต่อ 1 คือ อาสาฯ 1 คนดูแลเด็ก 1 คน เพราะจะทำให้เด็กมีการสร้างความรักความผูกพัน เป็นแบบอย่างของชีวิต สร้างเสริมสุขภาวะ 4 มิติ และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ช่วงเวลา 2 ปี มีอาสาระยะสั้น 4-6 เดือน รวม 347 คน เป็นชาย 63 คน หญิง 284 คน และมีอาสาระยะยาว มากกว่า 6 เดือน 246 คน เป็นชาย 30 คน หญิง 216 คน ช่วงอายุ 31-40 ปีมากที่สุด ส่วนใหญ่มีอาชีพพนักงานบริษัท ธุรกิจส่วนตัว นักเรียน/นักศึกษา แม่บ้าน และอื่นๆ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล รับราชการ นักวิจัย รับจ้างอิสระ เป็นต้น โดยอาสาแต่ละคนจะทำกิจกรรมกับน้อง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 3 ชั่วโมง อาทิ เป็นเพื่อนเล่น สอนการบ้าน ฝึกทักษะชีวิต เรียนรู้สัมพันธภาพ บันทึกความสุขและติดตามพัฒนาการ จำนวนเด็กที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 362 คน
“การดำเนินงานทำให้เกิดองค์ความรู้ 6 ด้าน ในการพัฒนางานอาสาสมัคร คือ การพัฒนาสุขภาวะและเสริมทักษะเด็กพิเศษ การพัฒนาสุขภาวะและเสริมทักษะเด็กแรกเกิดถึง 7 ปีโดยเน้นพัฒนาทักษะสมอง EF (Executive Function) การพัฒนาสุขภาวะและเสริมทักษะเด็ก 7 -18 ปีด้วยศิลปะเพื่อรู้จักตนเอง ศิลป์ภาวนากับทักษะอาชีพ และนักส่งเสริมศิลปะเพื่อการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ระบบและกลไกลที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ควรจะมีคณะกรรมการประจำบ้านในการติดตามประเมินเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา สร้างสุขภาวะ 4 มิติเพื่อเด็กในสถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครอง”น.ส.นริศรากล่าว
ด้านน.ส.เกศกนก แก่นนาคำ นักวิจัยมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า การศึกษาเรื่องกระบวนการอาสาสมัครต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในสถานสงเคราะห์และสถานคุ้มครอง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่ง(ศูนย์)เรียนรู้ฯ ใน 4 แห่ง ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กรณีศึกษา สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ดำเนินการศึกษาโดยการสังเกตและสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครและเด็ก 14 คู่ ผลการศึกษาพบว่า 1.กระบวนการอาสาสมัครที่มีผลต่อพัฒนาการเด็ก โดยอาสาสมัครทุกคนต่างเริ่มจากเรียนรู้พฤติกรรมและความสามารถของเด็ก มีการประชุมติดตามพัฒนาการทุกเดือน อีกทั้งนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาปรับปรุงและเปลี่ยนวิธีการสอนให้เข้ากับเด็ก 2.พัฒนาการเด็ก ส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้ตรงตามเป้าหมายที่อาสาสมัครตั้งไว้ และ 3.การสร้างความสัมพันธ์ของอาสาสมัครกับเด็ก วิธีการที่ใช้และระยะเวลาในการสร้างความสัมพันธ์ของอาสาสมัครแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกัน
- 67 views