ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการถูกใช้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนไปแล้วถึง 11 แห่ง ในเขตประเทศจีน โดยได้กักน้ำประมาณ 47,000,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
เขื่อนเหล่านี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างหนัก การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง 2 แห่ง คือ เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทยและกัมพูชา ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงกับภาคอิสานของไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้หลายปีที่ผ่านมา ยังมีประเด็นการเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการแม่น้ำโขง
จากสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน นักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการท้องถิ่น ที่ร่วมกันติดตามสถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อปกป้องทรัพยากรแม่น้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่า ประเด็นปัญหาในแม่น้ำโขงขณะนี้ที่อยู่ในภาวะใกล้วิกฤติ แต่การรับฟังเสียงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงถึงระดับนโยบาย การแก้ปัญหาข้ามพรมแดนที่เป็นอยู่ยังไม่เท่าทันกับสถานการณ์ จำเป็นต้องยกระดับบทบาทของการแก้ไขปัญหา ด้วยการจัดตั้ง “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ประเทศไทย”
จุดประสงค์ของการตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย คือการสร้างพื้นที่และกลไกให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ได้เข้ามามามีส่วนร่วมในนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง ด้วยกระบวนการ รวบรวมเสียงของชุมชน ข้อมูล การวิจัย ความรู้ แนวทางการจัดการแก้ปัญหา และข้อเสนอต่าง ๆ ต่อนโยบายการจัดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มแม่น้ำโขง สนับสนุนความรู้ทางวิชาการ เพื่อนำไปสู่การวางแผนและตัดสินใจที่อยู่บนฐานของข้อมูล สร้างสำนึกร่วมกันของผู้คนในการปกป้องและเป็นเจ้าของแม่น้ำโขงร่วมกันอย่างแท้จริง
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง คือแสงสว่างของการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทั้งด้านสำนึกความเป็นธรรมและด้านวิชาการ
“พวกเราต่อสู้มากว่า 20 ปี เมื่อก่อนเหมือนเขวี้ยงอะไรออกไปแล้วหาย แต่ตอนนี้รู้สึกดีใจสิ่งที่เขวี้ยงไปแล้วมีอะไรสะท้อนกลับมาบ้าง เห็นได้จากอาการขยับของจีน เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ที่แสดงบทบาทเรื่องแม่น้ำโขงต่างก็ขยับ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ เราจะจัดตั้งสภาประชาชนแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันตะโกนดังๆ เราต้องเชื่อมร้อยกับภาคส่วนต่างๆ มาไว้ด้วยกัน” นายนิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ สถานทูต และสื่อมวลชน จัดเวทีสาธารณะนำเสนอปัญหาและแนวทางการจัดการแม่น้ำโขง ที่ขึ้นโรงแรมเชียงของทีคการ์เดนริเวอร์ฟร้อนท์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตั้งแต่เวลา 09.00 – 13.00 น. และถ่ายทอด Facebook Live ทางเพจ นักข่าวพลเมือง องศาเหนือ อยู่ดีมีแฮง ไทยพีบีเอส
- 191 views