แพทยสภาเผยสถิติคดีทางการแพทย์ และการพิจารณาจริยธรรม พบมีทั้งคดีมีมูล และไม่มีมูล ส่วนมีมูลเอาผิดแล้วแต่กรณี แม้คดีไม่มากแต่ต้องหาทางป้องกันเพื่อลดปัญหาให้มากที่สุด ด้านสพศท.จับมือหลายหน่วยงานผุดแนวคิดสร้างเครือข่ายเขตสุขภาพวางระบบป้องกันปัญหา คาดเดินหน้าปี 2564
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ กลายเป็นปัญหาสะสมมานาน หลายครั้งเกิดเป็นข้อร้องเรียน จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีตามที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการสื่อสาร ปัญหาการตรวจวินิจฉัย หรือแม้แต่ความรุนแรงในโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้ยังคงพบเห็นเรื่อยๆ แต่ก็เกิดคำถามว่า จริงๆแล้ว ปัญหาแพทย์กับคนไข้มีการร้องเรียนมากน้อยแค่ไหน และประเด็นอะไรที่มีการร้องเรียนมากที่สุด...
ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการจริยธรรม แพทยสภา ได้พิจารณารับเรื่องร้องเรียน และแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่มีการร้องเรียนเข้ามาแพทยสภา ตั้งแต่พ.ศ. 2561 พ.ศ. 2562 และพ.ศ.2563 (ม.ค.-ต.ค.63) แยกรายละเอียด ดังนี้
พ.ศ.2561 – พบคำร้องมีมูล 61 เรื่อง , คดีไม่มีมูล 103 เรื่อง , คดีขาดอายุความ 5 เรื่อง และส่งคืน 13 เรื่องรวมทั้งหมด 182 เรื่อง
พ.ศ.2562 – พบคำร้องมีมูล 121 เรื่อง, คดีไม่มีมูล 235 เรื่อง, ขาดอายุความ 4 เรื่อง และส่งคืน 16 เรื่อง รวมทั้งหมด 359 เรื่อง
พ.ศ.2563 (ม.ค.-ต.ค.) - พบคำร้องมีมูล 126 เรื่อง, คำร้องไม่มีมูล 172 เรื่อง , ขาดอายุความ 8 เรื่อง และส่งคืน 10 เรื่อง รวมทั้งหมด 316 เรื่อง
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้ข้อมูล ว่า เรื่องร้องเรียนในแต่ละปี ปัจจุบันต่ำว่า 200 ราย เทียบกับการรักษาพยาบาล 300 ล้านครั้ง ต่ำกว่า 1 ต่อล้าน หรือ น้อยกว่า ร้อยละ 0.0001 ทางสถิติ ซึ่งแพทยสภาพยายามพัฒนาระบบให้ลดลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรฐานวิชาชีพ หมายความว่า เวลาที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ หรือรักษาไม่ดีตามผลที่คาดหวังไว้ เมื่อเขาไม่แน่ใจก็จะมาร้องแพทยสภา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า 2 ใน 3 พบว่ามาจากกระบวนการอื่นๆทั้งตัวโรคเอง ข้อจำกัดของยา เรื่องของสถานพยาบาล เรื่องของวิชาชีพอื่นๆ เช่น ร้องเรื่องตกเตียง ร้องเรื่องการให้เลือดผิดกลุ่ม เรื่องของห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะเป็นเรื่องของสหวิชาชีพ ตัวแพทย์เองไม่มาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีที่รับเรื่องร้องเรียนนั้น แบ่งเป็นคดีมีมูล คือ มีทั้งความเสียหาย และไม่มีความเสียหาย อาจจะมีความผิด โดยเกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้ชั้นสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาโทษ ส่วนคดีไม่มีมูล คือ มีความเสียหาย และไม่มีความเสียหาย ไม่พบความผิดที่เกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ถูกกล่าวหา หรือกล่าวโทษรายนั้น แต่หากเป็นรายอื่น ตั้งเพิ่มได้ อาจจะมีความผิด แต่มิใช่จากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนอกอำนาจแพทยสภา
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาคำร้อง และพบว่ามาจากตัวแพทย์ ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบต่อไป โดยส่วนตัวแพทย์จริงๆจะเป็น 1 ใน 3 และเมื่อมีมูลก็จะต้องถูกลงโทษ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ผิดพลาดไม่รุนแรง แต่จะร่วมกับระบบที่ไม่เพียงพอ เช่น คนไม่พอ ของไม่พอ ดังนั้น กระบวนการลงโทษก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น อยู่เวรมานานมาก เจอคนไข้มา 100 คนแล้ว ผ่าตัดมาเป็นรายที่ 20 เราก็ต้องมีกระบวนการดูเพื่อความเป็นธรรม
เมื่อคดีมีมูลก็จะมีการพิจารณาจริยธรรม ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมา จำแนกได้ดังนี้
พ.ศ.2561 - ยกข้อกล่าวโทษ 11 เรื่อง , ว่ากล่าวตักเตือน 192 เรื่อง, ภาคทัณฑ์ 10 เรื่อง , พักใช้ 3 เรื่อง และเพิกถอนไม่มี รวมการพิจารณาจริยธรรมทั้งสิ้น 216 เรื่อง
พ.ศ.2562 - ยกข้อกล่าวโทษ 18 เรื่อง , ว่ากล่าวตักเตือน 261 เรื่อง , ภาคทัณฑ์ 8 เรื่อง, พักใช้ 6 เรื่อง และ เพิกถอนไม่มี รวมการพิจารณาจริยธรรมทั้งสิ้น 295 เรื่อง
พ.ศ.2563(ม.ค.-ต.ค.) – ยกข้อกล่าวโทษ 32 เรื่อง , ว่ากล่าวตักเตือน 47 เรื่อง, ภาคทัณฑ์ 18 เรื่อง, พักใช้ 23 เรื่อง และเพิกถอนไม่มี แต่มีการส่งคืนเรื่อง 9 เรื่อง รวมการพิจารณาจริยธรรมทั้งสิ้น 129 เรื่อง
สำหรับประเภทเรื่องร้องเรียนจริธรรม 2561-2563(พ.ย.63) อันดับหนึ่งมาจากเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ รองลงมาคือ การเสริมความงาม และกรณีอื่นๆ เช่น โฆษณา และผิดพ.ร.บ.ยา เป็นต้น ทั้งนี้ ปี 2561 ปัญหาจะพบมากสุด แต่ปี 2562 เริ่มลดลง ขณะที่ปี 2563 ก็ลดลง ยกเว้นเรื่องมาตรฐานสัดส่วนยังสูง
สำหรับแนวทางในการป้องกันปัญหานั้น พล.อ.ต.นพ.อิทธพร บอกว่า สิ่งสำคัญต้องป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยร่วมกับองค์การแพทย์ต่างๆ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) รวมทั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และกระทรวงสาธารณสุข ต่างเล็งเห็นถึงปัญหา โดยต้องร่วมมือกันในการจัดทำเป็นเครือข่ายในการรวบรวมปัญหาทางการแพทย์ และสรุปเป็นโซนนิ่ง จัดทำเป็นพื้นที่และมาหาทางออกร่วมกัน โดยจะแบ่งทำเป็นโมเดลต่างๆ เช่น ในพื้นที่แก้ได้หรือไม่ หากแก้ได้ต้องดำเนินการทันที หรืออันไหนแพทยสภาจัดทำได้ หรือกระทรวงสาธารณสุข ก็ทำพร้อมๆกันไป โดยเจ้าภาพจะเป็น สพศท. โดยขณะนี้เป็นแนวความคิดและจะเดินหน้าร่วมกันให้เร็วที่สุด
“ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลนั้น จริงๆ หลายอย่างเป็นเรื่องเล็กน้อย เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้รวบรวมชัดเจน ดังนั้น หากเรารวมข้อมูลเป็นเครือข่ายจะได้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อหาทางออกร่วมกันได้ โดยสรพ.มีข้อมูลตรงนี้ เราก็จะทราบว่าพื้นที่ไหนปัญหาอะไรมากสุด เช่น การตีกันในโรงพยาบาล เป็นต้น นี่คือ การบูรณาการร่วมกันทั้งหมด และจะขยายไปทั้งแพทย์กระทรวงต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ อีกด้วย”พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว
ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) กล่าวเสริมว่า เราจะมีอนุกรรมการฯ เป็นผู้ดำเนินการ แต่เบื้องต้นเราจะต้องหาตัวคนที่สามารถเชื่อมโยงโรงพยาบาลระหว่างโรงพยาบาล และระหว่างเขตสุขภาพ เพราะที่ผ่านมาแต่ละโรงพยาบาลจะแยกกันชัดเจน เพราะแต่ละแห่งมีภารกิจมาก เมื่อเจอปัญหาจะเรียนรู้กันเอง ดังนั้น หากเราทำการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายได้ก็จะมีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ต่างๆร่วมกันได้ ซึ่งเราก็จะเริ่มและดำเนินการภายในปี 2564
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร
เอาใจช่วยหากทำได้เชื่อว่าจะลดปัญหาลงได้ไม่มากก็น้อย...
- 3418 views