เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุม “กฏหมายร้อน ฝันร้ายของวงการแพทย์ไทย?” ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยตอนหนึ่งของการประชุมได้มีผู้หยิบยกประเด็นที่ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีทางการแพทย์เป็นคดีผู้บริโภค รวมทั้งกรณีที่แพทย์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกรณีคนไข้เสียชีวิตขณะผ่าตัดไส้ติ่งที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมให้ความเห็นว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกลายเป็นช่องทางที่ประชาชนใช้ร้องเรียนต่อศาลโดยตรง ส่งผลกระทบทำให้แพทย์ปฏิบัติงานแบบป้องกันตนเอง ขณะที่ความมุ่งหมายของบุคลากรทางการแพทย์ไม่อยากให้คดีทางการแพทย์เข้าสู่ศาลเป็นคดีผู้บริโภค จะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

ศ.จรัญ ภักดีธนากุล

ทั้งนี้ ศ.จรัญ ได้ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ทาง Hfocus.org จึงขอรวบรวมสาระสำคัญของข้อคิดเห็นดังกล่าวมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

กันบุคลากรทางแพทย์ออกจากคดีอาญา

ศ.จรัญ กล่าวว่า ในทางกฎหมายได้แยกแพ่งและอาญาออกจากกัน คดีผู้บริโภคเป็นคดีแพ่งเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคดีอาญาหรือคดีทางปกครอง ส่วนกรณีที่ อ.ร่อนพิบูลย์ เป็นคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และเป็นกรณีที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ สูญเสียทุกฝ่าย

ด้วยเหตุนี้ ทางออกข้อแรกคือในส่วนของคดีอาญา ต้องมีกฎหมายคุ้มครองแก่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์หรืออาจรวมถึงการให้บริการสาธารณสุขทั้งระบบว่าถ้าไม่ถึงขั้นมีเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องยกเว้นไม่ดำเนินคดีอาญาโดยให้ผันไปเรียกร้องทางแพ่งแทน

“อย่างกรณีที่ อ.ร่อนพิบูลย์ ในที่สุดแล้วศาลก็ไม่ได้ลงโทษ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นในความเป็นจริงคือไม่มีการเอาแพทย์คนนั้นไปติดคุก แต่ว่าการตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ต้องประกันตัว ต้องหาทนายความ ส่งผลให้มีปัญหาทางจิตใจ มันก็เกินเหตุเกินผล เกินความพอเหมาะพอควรที่จะปฏิบัติต่อผู้ประกอบวิชาชีพในแขนงนี้ ผมไม่อยากให้คนที่ไม่ใช่อาชญากรต้องไปถูกดำเนินคดีเยี่ยงอาชญากร ดังนั้นในทางอาญา ขอให้กันแพทย์ทั้งระบบออกมา ไม่ว่าในภาครัฐ เอกชน ถ้าไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต้องได้รับคุ้มครองไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ต้องถูกจับเป็นผู้ต้องหา ไม่ต้องประกันตัว”ศ.จรัญ กล่าว

ศ.จรัญ กล่าวอีกว่า ในประเด็นนี้ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขมีการเขียนเอาไว้แล้วแต่ครอบคลุมเฉพาะวิชาชีพเวชกรรม ไม่ได้รวมถึงวิชาชีพอื่น ทำอย่างไรถึงจะขยายบทบัญญัติให้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังต้องปรับปรุงอีก เพราะเขียนว่าไม่ให้รับผิดทางอาญาเว้นแต่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งตนเห็นว่าเขียนแค่นั้นยังน้อยไป ถ้าเขียนว่าไม่ต้องรับผิดแต่ก็ยังต้องถูกดำเนินคดี ไปเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย ต้องสู้คดีกัน 2-3 ศาล ระหว่างนั้น 5-10 ปี จิตใจของบุคลากรจะเป็นอย่างไร จะมีกำลังใจทำงานเหมือนเดิมหรือไม่

บุคลากรของรัฐได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว

ในส่วนของการดำเนินคดีทางแพ่ง ศ.จรัญ ให้ความเห็นว่าต้องให้โอกาสกับผู้บาดเจ็บล้มตายมากขึ้น เพราะได้ปิดช่องทางคดีอาญาแล้ว การดำเนินคดีทางแพ่งก็สร้างภาระอีกแบบแต่ไม่หนักหนาสาหัสเพราะบุคลากรรัฐได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ว่าถ้าทำโดยไม่จงใจ ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ไม่ต่างจากคนในวิชาชีพกฎหมาย บัญชี วิศวกร สถาปนิก

ศ.จรัญ ขยายความว่า หากบุคลากรภาครัฐปฏิบัติหน้าที่แล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความรับผิดก็เป็นเรื่องละเมิด และอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ตัวเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องไม่ได้ ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานต้นสังกัด เช่น กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ฟ้องเจ้าหน้าที่ ถ้าขืนฟ้องตัวบุคคล เจ้าหน้าที่ก็เพียงแค่ให้การว่าฟ้องเขาไม่ได้ ศาลก็จะจำหน่ายคดี

อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้จะไปศาลปกครอง ศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด ก็ขึ้นกับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหรือเพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ถ้าเป็นการใช้อำนาจมิชอบก็ไปศาลปกครอง แต่ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ มีการละเมิดแบบที่ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐก็ไปฟ้องที่ศาลแพ่ง ศาลจังหวัด แต่ทั้ง 3 ศาลก็ใช้กฎหมายเดียวกันคือ มาตรา 5 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ฟ้องเจ้าหน้าที่เป็นส่วนตัวไม่ได้ ถ้าศาลรู้ศาลก็จะไม่รับฟ้องตั้งแต่ต้น หรือถ้าหลุดเข้าไปได้ เจ้าหน้าที่ก็เพียงยื่นคำร้องฉบับเดียวว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ ทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ฟ้องเป็นส่วนตัวไม่ได้ ต้องฟ้องหน่วยงานต้นสังกัด ศาลก็จะจำหน่ายคดีทันที

“ผมว่าเอาเรื่องไม่ต้องเป็นคดีอาญาให้สำเร็จ ตอนนี้ก็ใกล้สำเร็จแล้ว ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคไม่ได้สร้างภาระอะไรแก่ผู้ประกอบวิชาชีพในภาครัฐ เพียงแต่อาจมีความรู้สึกว่าถูกฟ้อง ฟ้องกันร้อยล้านพันล้านบาท แต่กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้ให้ความคุ้มครองเอาไว้ แล้วถ้าสมมติต้องรับผิดก็เอาเงินงบประมาณมาจ่าย แล้วยังไล่เบี้ยจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้อีกด้วย จะไล่เบี้ยได้เฉพาะเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะปรับว่าตัดเอาเรื่องความห่วงใยเรื่อง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคออกไปเถิด มันไม่ได้ร้ายแรงอะไรเลย แล้วก็ตรงไปที่หัวใจคือต้องไม่ดำเนินคดีอาญา เมื่อปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว ให้ได้รับความคุ้มครอง ไม่เป็นเหตุให้ถูกดำเนินทางอาญา เว้นแต่จะเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”ศ.จรัญ กล่าว

หมอภาคเอกชนต้องรับผิดทางแพ่ง

ศ.จรัญ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ไม่มีน้ำยาอะไรสำหรับแพทย์ในระบบราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะได้รับความคุ้มครองค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว ปัญหาของคดีผู้บริโภคจึงตกอยู่กับแพทย์ที่อยู่ในภาคธุรกิจซึ่งไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และหากจะแก้กฎหมายให้คุ้มครองไปถึงแพทย์ในสถานพยาบาลเอกชนด้วย ตนคิดว่าไม่มีเหตุผลความชอบธรรมเพียงพอ เพราะสถานพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลเหมือนพ่อค้าในธุรกิจอื่น จึงยากที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษดีกว่าวิศวกร สถาปนิก นักกฎหมาย นักบัญชี

“ถ้าบอกว่าวิชาชีพแพทย์ทั้งระบบไม่เกี่ยวกับคดีผู้บริโภคเลย มันไม่เป็นความจริง เพราะความจริงคือแพทย์บางคนก็ใช้ความรู้ทางแพทย์ไปประกอบธุรกิจ ไม่ได้ให้บริการสาธารณะ ถ้าบอกว่าแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน แพทย์เสริมสวยต่างๆ ไม่ใช่ธุรกิจการค้า ต้องมีกฎหมายพิเศษเฉพาะคดีทางการแพทย์ ผมคิดว่ายาก ถ้าเราผูกวิชาชีพโดยไม่แยกเรื่องของภาครัฐกับภาคเอกชน เราจะสับสน แล้วเราจะดึงเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งหมดมาอยู่ในเกมเดียวกัน ผมคิดว่ายากที่สังคมจะรับได้ เวลานี้วิชาชีพมี 2 มิติ มิติของภาคธุรกิจก็มี ผมไม่ได้คิดไม่ดีกับภาคเอกชนนะ แต่ผมมั่นใจว่า 2 มิตินี้ใช้เกมเดียวกันไม่ได้ ท่านมีความชอบธรรม มีเหตุผลในมุมมองของท่าน แต่ถ้ามุมมองจากทั้งระบบ ผมว่ายากที่จะทำให้สำเร็จ แล้วก็จะไม่ได้รับสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดในวิชาชีพ คือ ความเคารพยกย่องว่าท่านเป็นผู้ที่มาให้ความกรุณาต่อผู้ตกทุกข์ได้ยากจริงๆ”ศ.จรัญ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ในส่วนของบุคลากรภาครัฐจะได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ก็จำเป็นต้องแก้ไขนิยามศัพท์ของคำว่าผู้ประกอบการค้าให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยให้หมายเฉพาะผู้ที่ประกอบการค้าจริงๆ ผู้ที่ใช้วิชาชีพทางแพทย์ไปประกอบธุรกิจการค้าจริงๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยกันแพทย์ในระบบของรัฐออกจากคดีผู้บริโภคได้แล้ว

แนะใช้อนุญาโตตุลาการแก้ข้อพิพาทหมอ-คนไข้

ประเด็นต่อมาที่ ศ.จรัญ กล่าวถึงคือต้องค่อยๆ ปรับให้มีกระบวนการชดใช้เยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

“ในจิตใต้สำนึกจริงๆ เขาก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามารับความกรุณาจากวิชาชีพนี้ แล้วสิ่งที่เขาต้องการคือต้องการการชดใช้ ต้องการอะไรมาชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป คิดดูเถอะว่าคนเราอยู่ดีๆ ต้องเสียอวัยวะหรือเสียคนที่เรารักไป สภาพจิตใจในตอนนั้นมันพร้อมเป็นเสือร้ายขึ้นมาทันที ดังนั้นควรมีกระบวนการเข้ามาบริหารจัดการความผิดพลาด ความเจ็บช้ำ ความเดือดร้อนตรงนั้น สิ่งที่น่าจะช่วยอีกด้านหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพราะผมอ่านร่างกฎหมายนี้แล้ว เห็นว่ามีคณะกรรมการช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม มีการตั้งกองทุนขึ้นมา คิดว่าน่าจะเป็นทิศทางที่แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน”ศ.จรัญ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ตนเห็นว่ายังขาดกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ควรเพิ่มเติมเข้าไปว่านอกจากไกล่เกลี่ยประนีประนอม สุดท้ายยังให้ไปอนุญาโตตุลาการ

“อนุญาโตตุลาการนี่แหละคือการดึงปัญหาออกมาจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ก็เหมือนอนุญาโตตุลาการในแวดวงอื่นๆ ถ้าหาทางออกที่สันติได้ก็เท่ากับเราดึงตัวเราออกจากวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องไปสร้างปัญหาใหญ่ซึ่งยากที่จะประสบความสำเร็จ สู้ต่อไปก็ไม่ชนะและจะพ่ายแพ้สูญเสีย dignity ของวิชาชีพแขนงนี้” ศ.จรัญ กล่าวทิ้งท้าย