ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบเผยผลสำรวจ ผู้สูบบุหรี่ในอาคารชุด 48% สูบนอกห้องตรงริมระเบียง ส่งผลต่อสุขภาพส่วนรวม ผู้อยู่อาศัย 89% เห็นด้วยให้ที่พักอาศัยในอาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่
เพราะทุกมวนที่จุดสูบไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวผู้สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ควันบุหรี่ยังล่องลอยไปกระทบสุขภาพคนรอบตัวเป็นบุหรี่มือสอง หรือแม้เศษควันก็ยังทิ้งสารพิษไว้บนวัตถุสิ่งของกลายเป็นบุหรี่มือสาม โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยร่วมกันในอาคารชุด ที่ต้องสัมผัสเอาสารพิษเข้าร่างกายของตัวเองและครอบครัว...
ล่าสุดสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (สสท.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแถลงข่าวและเสวนาวิชาการ เรื่อง การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563
ด้วยการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป สังคมไทยมีความเป็นเมืองมากขึ้น จึงนิยมอยู่อาศัยร่วมกันในอาคารชุด เช่น คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ทเมนท์ เรื่องควันบุหรี่จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา..
โดย นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ควันบุหรี่ของผู้ที่สูบในอาคารชุดเป็นปัญหาสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาคารชุดควรเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ และไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น การควบคุมยาสูบยังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยข้อมูลในปี 2562 ว่า ยาสูบฆ่าคนมากกว่า 8 ล้านคนต่อปี ผู้ใช้ยาสูบเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน อีก 1.2 ล้านคนเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง
จากผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2563 โดยกลุ่มตัวอย่าง 1,204 ราย ทั้งเพศชายและเพศหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า 15% ของผู้ที่พักอาศัยในอาคารชุดเป็นผู้สูบบุหรี่ 85% ไม่สูบบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน 25-59 ปี ส่วนสถานที่สูบบุหรี่ 48% สูบนอกห้องริมระเบียง 35% สูบในที่ส่วนกลางที่จัดให้ 12% สูบในห้อง
รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร
รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยผลการสำรวจเพิ่มเติมว่า ผู้ที่อาศัยในอาคารชุด 89% เห็นด้วยให้ที่พักอาศัยในอาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ เพราะรู้สึกไม่สบายจากการหายใจที่มีผู้สูบบุหรี่ในอาคารชุดถึง 77% สำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่แล้ว รู้สึกชัดเจนว่า ควันบุหรี่รบกวน บางครั้งทำให้หายใจไม่สะดวก และมีมากถึง 73% ที่ได้กลิ่นควันบุหรี่ลอยมาจากห้องอื่น นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่เคยรับควันบุหรี่มือสองในพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันในอาคารชุด สิ่งที่สำคัญคือการเคารพสิทธิในสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งผู้พักอาศัยในอาคารชุดส่วนใหญ่ต้องการให้อาคารชุดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อาศัยร่วมในอาคารสูง แม้ว่าจะสูบบุหรี่ในห้องพักหรือริมระเบียง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แต่กลิ่นควันบุหรี่ก็ยังล่องลอยสร้างความรำคาญและมีผลต่อผู้อื่น รวมถึงปัญหาควันบุหรี่มือสาม ที่เกิดจากคราบบุหรี่ที่ติดตามผนังห้อง และเสื้อผ้า กระทบต่อผู้ที่อาศัยร่วมกันได้
"ข้อมูลจากการบันทึกของนิติบุคคลอาคารชุดพบว่า อาคารชุดส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการในการควบคุมการสูบบุหรี่ เนื่องจากขาดการรับรู้ถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ.2561 และยังขาดความตระหนักในการเคารพและคุ้มครองสิทธิในสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และแม้ว่าอาคารสูงหลายแห่งจะมีมาตรการขอความร่วมมือไม่ให้สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะของอาคาร และจัดพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ไว้ให้ แต่มีเพียงบางแห่งที่บังคับใช้อย่างจริงจัง" รศ.ดร.สสิธร กล่าวสรุป
ด้านรศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบของควันบุหรี่ในอาคารชุดว่า ควันบุหรี่นั้นกระจายลอยผ่านไปยังห้องอื่น ๆ ตามช่องระบายอากาศ หน้าต่าง และรอยแตกในผนังหรือพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ทำให้ทารกตายอย่างเฉียบพลัน เกิดอาการโรคทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ลดความเจริญของสมรรถภาพทางปอด เกิดโรคหอบหืดหรือกระตุ้นให้หอบหืดกำเริบ ทั้งยังเกิดโรคของช่องหูส่วนกลางชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ส่วนอันตรายของผู้ใหญ่จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด อาจเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจและเส้นเลือดสมอง
"องค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากควันบุหรี่ สิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซนต์ ถึงจะเพียงพอกับความปลอดภัยจากควันบุหรี่ นอกจากนี้ หากอาคารชุดปลอดบุหรี่ได้จะช่วยประหยัดเงินได้มาก ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่า การห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุดช่วยประหยัดเงินได้ถึงปีละ 153 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 5,000 ล้านบาท เพราะลดค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและลดความเสียหายจากไฟไหม้ของการทิ้งก้นบุหรี่" รศ.ดร.นิภาพรรณ กล่าว
ขณะที่นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงข้อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ไม่ได้กำหนดให้อาคารชุดเป็นเขตปลอดบุหรี่ จึงยังไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายฉบับนี้ได้ แต่ผู้พักอาศัยในอาคารชุดที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ควรร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพราะถือเป็นเหตุรำคาญตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ศ.ดร.ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ นักวิจัยภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ได้หยิบยกเอาผลการศึกษามาตรการทางกฎหมายและสังคมเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุดในต่างประเทศ มาแนะนำว่า คือ 1.ก่อนจะมีมาตรการห้ามสูบบุหรี่ ให้สื่อสารบ่อย ๆ กับผู้อยู่อาศัยถึงสาเหตุการห้ามสูบบุหรี่และจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ โดยแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยทราบล่วงหน้าหลายเดือนก่อนบังคับห้ามสูบบุหรี่เพื่อให้ผู้อาศัยคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจัดประชุมให้ผู้อาศัยแสดงความคิดเห็นเพื่อเพิ่มการสนับสนุนและลดปัญหาการบังคับห้ามสูบบุหรี่ที่จะเกิดขึ้น 2.การดำเนินการระหว่างและหลังการใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ ให้มีป้ายคำเตือนแก่ผู้อยู่อาศัยรวมถึงบุคคลภายนอก พร้อมกับเตือนผู้อาศัยว่าต้องรับผิดชอบค่าเสียหายกรณีการเกิดผลกระทบจากการสูบบุหรี่ และผู้ดูแลอาคารต้องหมั่นตรวจสอบ
นายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เสริมว่า ควรจัดพื้นที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะให้ห่างไกลจากผู้อื่น เพื่อให้เกิดผลกระทบที่ต่ำที่สุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ฐานข้อมูลผู้พักอาศัยที่ชัดเจน รณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยรับรู้ถึงผลกระทบเชิงสุขภาพต่อตนเองและผู้อื่น และต้องสร้างบรรยากาศสังคมที่ดูแลกันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมส่วนรวม
การผลักดันเพื่อลดปัญหาควันบุหรี่ในอาคารชุด ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้สูบได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยร้ายของบุหรี่ เพราะแม้ว่าการสูบบุหรี่จะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ไปละเมิดสิทธิของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน
- 235 views