คณบดีศิริราชพยาบาลเผยปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์และคนไข้เหตุสื่อสารน้อย ประกอบกับโซเชียลมีเดียทำขยายวงกว้าง ชี้นโยบายไทยมีเยอะ แต่หากทำได้จะช่วยลดปัญหา ชูกระจายการบริการรักษาตามความรุนแรงของโรค ป่วยระดับนี้อยู่รพช. ป่วยหนักผ่าตัดใหญ่เข้ารพ.ขนาดใหญ่
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่อาคารสภาวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย แพทยสภา และกระทรวงสาธารณสุข จัดงานสัมมนา “safe practice : situation and concerns” โดย นพ.ณรงค์ สายวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงช่องว่างปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ ว่า ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ยังคงมี อย่างคนไข้ หรือผู้รับบริการก็เป็นเจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อมีความไม่พอใจเกิดขึ้น แม้นิดเดียวกลับถูกขยายวงกว้างขึ้นเร็วมากด้วยโซเชียลมีเดีย ดังนั้น หากไม่มีการสื่อสารที่ดีพอ อย่างการสื่อสารเนื้อหาสาระ แต่พฤติกรรมการแสดงออกไม่ไปด้วยกันก็ยุ่ง ยกตัวอย่าง เกิดการทำร้ายกันจำนวนหนึ่ง พบว่า อาจมาจากการสื่อสารไม่เข้าใจกัน หรือเกิดการพูดจา หรือกิริยาที่ก้าวร้าว จนทำให้อารมณ์ขึ้น แม้มีเนื้อหาสาระก็ยากจะควบคุม แต่จริงๆเรื่องพวกนี้ไม่ได้มาก
เมื่อถามว่าสาเหตุของความไม่พอใจการรักษา จนบางครั้งนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นเพราะขาดการสื่อสารมากพอหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การสื่อสารช่วงเวลาน้อยเกินไป ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุ เพราะจากเดิมแพทย์ 1 คน ก่อนรักษาคนไข้ต้องอธิบายถึงการรักษา ผลแทรกซ้อน ให้คนไข้ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ปัจจุบันคนไข้เยอะ แต่จำนวนแพทย์ไม่ไปด้วยกัน เบ็ดเสร็จแพทย์ 1 คนให้เวลาต่อคนไข้น้อยลง เพราะจริงๆ กว่าจะทำการรักษา หรือผ่าตัด ต้องคุยกับคนไข้จนเข้าใจ ต้องทำให้เขาเข้าใจว่า เป็นโรคอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร หากไม่ผ่าตัดจะได้หรือไม่ ซึ่งหากมีการสื่อสารทั้งหมดแบบนี้จะไม่ค่อยมีประเด็น เพราะคนไข้ได้ข้อมูลทั้งหมด แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันคนไข้มารอคิวอยู่ข้างนอก และหากหมออธิบายคนที่อยู่ในห้องตรวจนาน ที่เหลืออยู่ข้างนอกรอคิวนานมาก แต่ไม่ได้เข้าตรวจเสียทีก็อาจเกิดปฏิกิริยา มีอารมณ์ข้างนอก อาจเกิดกรณีก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้คุณภาพลดลง คีย์ใหญ่เพราะระยะเวลาการสื่อสารสั้นลง
เมื่อถามว่าต้องมีเวลาในการสื่อสารมากน้อยแค่ไหน หรือต้องมีทางออกอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ต้องไประบุเวลา สิ่งสำคัญต้องสื่อสารอธิบายให้เข้าใจ สื่อสารอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วหากพูดถึงระบบสุขภาพที่ดี หากเราจัดระบบการบริการทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับอาการป่วยของคนไข้ เช่น หากเจ็บป่วยระดับนี้ ไปโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ โดยไม่ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลจังหวัดก็ช่วยได้ แต่ปัจจุบันเจ็บป่วยพื้นฐานยังเดินทางมาศิริราชพยาบาล ซึ่งห้ามไม่ได้ เพราะเป็นความศรัทธา แต่จริงๆ ต้องเกลี่ยคนไข้ออกไปตามระดับความรุนแรง ความยากของโรคก็จะช่วยได้ และทำให้การสื่อสารได้มากขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องมีการจัดระดับการดูแลการให้บริการผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
เมื่อถามว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่เฉพาะรพ.ระดับปฐมภูมิ นโยบายยกระดับบัตรทอง ลดความแออัดรพ.ใหญ่ จะช่วยลดปัญหาแพทย์กับคนไข้ได้หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยนโยบายมาก แต่กระบวนการนำนโยบายไปใช้ยังขาดการมอนิเตอร์ แต่ก็ถือว่าดี และอยากเห็นอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ซึ่งอยากย้ำว่า อย่าไปกลัวว่า โรงพยาบาลชุมชนจะรักษาไม่ดีเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะจะมีการอบรมหมอทั้งหมด หากทุกคนเข้าใจระบบก็จะไม่ไปรวมกันโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้เกิดความแออัด จนแพทย์ไม่มีเวลาอธิบาย อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าปัญหาเหล่านี้จะลดลง แต่ต้องทำควบคู่กันทั้งการบริการทางการแพทย์ และประชาชนก็ต้องสร้างความตระหนัก ยกระดับความรู้ให้สังคมเข้าใจบริบทตรงนี้ หากทำได้ความหนาแน่นในโรงพยาบาลก็จะน้อยลง
- 305 views