Numerical literacy หรือ Numeracy หรือความรู้พื้นฐานด้านการคำนวณ คือความสามารถในการให้เหตุผลและใช้แนวคิดเชิงตัวเลขง่ายๆ (1) คือทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐานและความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทางคณิตศาสตร์พื้นฐาน เช่น การบวก ลบ คูณ หาร ตัวอย่างเช่น ถ้าใครสามารถเข้าใจสมการทางคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆ เช่น 2 + 2 = 4 ก็จะถือว่ามีความรู้พื้นฐานด้านตัวเลขเป็นอย่างน้อยแล้ว

               คนที่มีความรู้พื้นฐานด้านการคำนวณจะสามารถใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ในการจัดการกับความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตได้ ตรงกันข้ามการไร้ความรู้พื้นฐานด้านการคำนวณ หรือ Innumeracy อาจส่งผลเสียต่อชีวิตของคนนั้นได้หลายมิติ ตั้งแต่ตัดสินใจพลาดด้านการเงิน รวมทั้งการถูกมองว่าไร้ทักษะในการทำอาชีพ ไปจนถึงการรับรู้ความเสี่ยงต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวกับสุขภาพของตน เพราะการขาดทักษะด้านนี้จะบิดเบือนศักยภาพการรับรู้ความเสี่ยงต่อการตัดสินใจด้านสุขภาพ (2)

               ข้อเสียด้านนี้อาจจะฟังดูซับซ้อน แต่ถ้าจะพูดให้ง่ายขึ้นก็คือหากไร้ความรู้พื้นฐานด้านการคำนวณ มันจะทำให้เราถูกหลอกจากข้อมูลที่ป็นเท็จได้ง่ายขึ้น และไม่ใช่ข่าวเท็จธรรมดาแต่เป็นข่าวเท็จที่เกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นความตายของคนเรา ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 ได้มีการศึกษาที่ยืนยันเรื่องนี้แล้ว

               นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ทำการสำรวจใน 5 ประเทศกับผู้คนไอร์แลนด์, สเปน, เม็กซิโก, สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เพื่อประเมินความอ่อนไหวต่อข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสและอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพพบว่าผู้ที่มีความรู้ด้านตัวเลขไม่ดีมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่ผิดๆ ที่เกี่ยวกับ Covid-19 (3)

               โดยการทำวิจัยได้วัดระดับการคำนวณของผู้เข้าร่วมซึ่งจากการทดสอบการคำนวณสามแบบแล้วนำผลมารวมกัน หนึ่งในคำถามพื้นฐาน เช่น "ข้อใดต่อไปนี้แสดงถึงโอกาสสูงสุดที่บางสิ่งมีโอกาสจะเกิด คือ 1 ใน 10, 1 ใน 1,000 หรือ 1 ใน 100" รวมถึงคำถามเกี่ยวกับตัวเลขที่หลากหลาย เพื่อที่จะพยายามจับเอาความสามารถของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจข้อมูลเชิงปริมาณทั่วไปๆ ซึ่งสะท้อนระดับภูมิปัญญาและทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (4)

               ในการทดลองผู้เข้าร่วมจะได้รับข้อความเก้าข้อความเกี่ยวกับ Covid-19 ซึ่งเป็นเท็จ ตัวอย่างเช่นข้อความที่บอกว่าเครือข่าย 5G อาจทำให้เราอ่อนแอต่อไวรัสโคโรนามากขึ้น (ข้อมูลเท็จนี้ทำให้เกิดการทำลายเสาส่งสัญญาณ 5G ในหลายพื้นที่) และบางส่วนก็เป็นความจริง ตัวอย่างเช่นข้อความที่บอกว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก Covid-19 (3)

               ผู้เข้าร่วมการทดลองยังถูกถามเกี่ยวกับการรับรู้ถึงความเสี่ยงของ Covid-19 ว่าพวกเขาปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขในระดับใดและพวกเขาจะรับวัคซีนหรือไม่หากมีวัคซีน (เนื่องจากมีข่าวปลอมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอันตรายของวัคซีน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการฉีดวัดซีนซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการควบคุมการระบาด)

               โดยรวมแล้วงานวิจัยพบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างคนที่ไม่เอาใจใส่หาความรู้เกี่ยวกับ Covid-19 กับความอ่อนไหวที่สูงต่อข่าวปลอมรวมถึงความเต็มใจที่เขาจะรับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสและแนะนำวัคซีนให้กับครอบครัวและเพื่อนๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรค

               รายงานระบุว่า "ทั้งคนที่มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าในงานด้านการคำนวณและระดับความไว้วางใจในนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่สูง มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญและสม่ำเสมอกับความอ่อนไหวที่ต่ำต่อข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับ COVID-19 ... ในทุกประเทศที่สำรวจ" และเสริมว่าการคำนวณไม่ได้เป็นเพียงการวัดความสามารถทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการจับความสามารถของบุคคลในการทำความเข้าใจและใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในวงกว้างมากขึ้นรวมถึงวิธีคิดเชิงวิเคราะห์ (4)

               งานวิจัยเอ่ยถึงการคิดเชิงวิเคราะห์ระบบที่สอง (System 2) ว่ามีบทบาทในการป้องกันการหลงเชื่อข้อมูลปลอม ซึ่งการคิดเชิงวิเคราะห์ระบบที่สองก็คือทักษะการวิเคราะห์ (Analytical skill) ซึ่งก็คือความสามารถในการแยกโครงสร้างข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ เพื่อหาข้อสรุป (5) ซึ่งรวมถึงการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ, การคิดเชิงวิเคราะห์, การสื่อสาร, การวิจัย, การวิเคราะห์ข้อมูล และความคิดสร้างสรรค์

               ดร. ซานเดอร์ แวน เดอร์ลินเดน (Dr Sander van der Linden) ผู้ทำการวิจัยอธิบายว่านักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าความอ่อนไหวต่อข้อมูลที่ผิดมีความเกี่ยวข้องกับทัศนะทางการเมืองของคนๆ นั้น แต่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ คิดว่ามันเชื่อมโยงกับความสามารถในการใช้เหตุผล (หรือความสามารถในการคำนวณซึ่งเป็นการใช้เหตุผลขั้นพื้นฐาน) ส่วนดร. ซานเดอร์ แวน เดอร์ลินเดนเชื่อว่าปัจจัยทั้งสองอย่างมีผล และเขารู้สึกประหลาดใจที่เห็นทักษะการคำนวณมีบทบาทอยางมากต่อการรับหรือไม่รับข่าวปลอม และการพบต้นตอสำคัญทำให้เขามีความหวังขึ้นมาว่าอาจจะมีหนทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ (3)

               รายงานจึงสรุปว่า "เราเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ในฐานะผู้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเชื่อถือได้ ตลอดจนศักยภาพความสำคัญในการส่งเสริมการคำนวณและทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อลดความอ่อนไหวต่อข้อมูลที่ผิด การวิจัยเพิ่มเติมควรสำรวจว่าทักษะการรู้ทันสื่อดิจิทัลและทักษะการประเมินความเสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อการรับประมวลผลและแบ่งปันข้อมูล (ที่ไม่ถูกต้อง) อย่างไรและจะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงความยืดหยุ่นต่อข้อมูลที่ผิดในระดับสังคมได้อย่างไร" (4)

               การรู้ทันสื่อดิจิทัล หรือ Digital literacy มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนทั่วไปเริ่มตระหนักถึภัยคุกคามที่แฝงมากับโลกดิจิทัล ในการสำรวความเห็นที่เปิดเผยในช่วงเวลาไล่ๆ กับการวิจัยชิ้่นนี้คือการสำรวจเรื่องความเสี่ยงของโลกโดยมูลนิธิ Lloyd’s Register Foundation/Gallup พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปเกือบสามในสี่รับรู้ถึงความเสี่ยงบนโลกออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งในสามข้อ ได้แก่ ข่าวปลอม, การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต และการฉ้อโกง แต่ในบรรดาทั้งสามประเด็นนี้ ข่าวปลอมอยู่ในอันดับที่น่ากังวลที่สุด (6)

               Gallup ได้ทำการสัมภาษณ์มากกว่า 150,000 ครั้งใน 142 ประเทศในนามของมูลนิธิ  Lloyd’s Register Foundation (ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลอิสระระดับโลกที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรและสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมและการศึกษาเพื่อทำให้โลกเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น) พบว่า 57% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มอายุ และทุกภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมมองว่าข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมเป็นสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุด

               แต่ถึงกระนั้นก็ตามการสำรวจความคิดในครั้งนี้ยังพบด้วยว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่ทราบถึงความเสี่ยงของข้อมูลที่ผิดในเรื่องนี้ ริชาร์ด เคล็ก (Richard Clegg) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิ Lloyd’s Register Foundation กล่าวว่านี่เป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อความปลอดภัยของตัวคนๆ นั้น ซึ่งเขากล่าวว่า  “นี่เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากผู้คนจำนวนมากขึ้นเข้าถึงอินเทอร์เน็ตพวกเขาจะต้องมีทักษะที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถตั้งคำถามถึงความถูกต้องของข้อมูลที่พวกเขาเห็นทางออนไลน์ได้” (6)

 

 

อ้างอิง

1. Brooks, M.; Pui (2010). "Are individual differences in numeracy unique from general mental ability? A closer look at a common measure of numeracy". Individual Differences Research. 4. 8: 257–265.

2. Reyna, V.F.; Nelson, W.L.; Han, P.K.; Dieckmann, N.F. (2009). "How numeracy influences risk comprehension and medical decision making". Psychological Bulletin. 135 (6): 943–973. doi:10.1037/a0017327. PMC 2844786. PMID 19883143.

3. Grover, Natalie. (Oct 14, 2020). "Poor numerical literacy linked to greater susceptibility to Covid-19 fake news".  The Guardiam. Retrieved Oct 24, 2020 from https://www.theguardian.com/world/2020/oct/14/poor-numerical-literacy-linked-to-greater-susceptibility-to-covid-19-fake-news

4. Roozenbeek Jon, Schneider Claudia R., Dryhurst Sarah, Kerr John, Freeman Alexandra L. J., Recchia Gabriel, van der Bles Anne Marthe and van der Linden Sander 2020Susceptibility to misinformation about COVID-19 around the worldR. Soc. open sci.7201199 http://doi.org/10.1098/rsos.201199

5. Sasmitatias, Frastika; Kuswanto, Heru (2018-07-06). "The Development of Science Learning Device Based on Serukam Local Culture To Improve Students' Analytical Skill". International Journal of Educational Research Review. 3 (3): 59–68. doi:10.24331/ijere.441348

6. Scroxton, Alex. (Oct 05, 2020). "Fake news tops list of online concerns worldwide". Computer Weekly. Retrieved Oct 24, 2020 from https://www.computerweekly.com/news/252490102/Fake-news-tops-list-of-online-concerns-worldwide

 

ภาพจาก Blue Plover/wikipedia