สถาบันกัญชาทางการแพทย์เผยเดินหน้าโครงการนำร่อง ทดลองปลูกกัญชา 6 ต้น รพ.สต.บ้านโนนมาลัย ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน กลุ่มตัวอย่างมี 10 หลังคาเรือน รอ อย.อนุมัติหากผ่านเริ่มปลูก ม.ค. 64
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการผลักดันกัญชาทางการแพทย์เฟส 2 เพื่อเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนาม คาดว่าน่าจะสามารถเสนอได้ราวๆ ต้นเดือน ธ.ค.นี้ โดยสาระสำคัญมีหลายเรื่อง ที่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ โมเดลการค้าขาย โมเดลการซับพอร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องแรกที่จะทำคือเป็นการต่อยอดเฟสแรกคือการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้สามารถเข้าถึงในคลินิกได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลใหญ่ ลงไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งต้องมาออกคำแนะนำให้แพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง: จับตา รพ.สต. อีกหน้าที่ปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ ชงคนไข้ปลูกเองใช้รักษา)
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์
ส่วนที่ 2 คือ การผลักดันกัญชาทางการแพทย์ในเชิงเศรษฐกิจ คือส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปลูกได้นั้น ซึ่งถ้าตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 ยังมีข้อจำกัด ในเรื่องของประชาชนจะปลูกจะต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือว่าสหกรณ์การเกษตร เป็นหน่วยงานของรัฐ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกรายคนได้ ดังนั้น ระหว่างที่รอการแก้ไขพ.ร.บ.ส่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุขก็พยายามหาแนวทางอื่นๆ คือ จะมีการจัดทำโครงการนำร่อง ทดลองปลูกกัญชา 6 ต้น ในพื้นที่รพ.สต.บ้านโนนมาลัย ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน กลุ่มตัวอย่างมี 10 หลังคาเรือน โดยให้ชาวบ้านรวมตัวกัน มีรพ.สต. และหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันดูแล อาจจะมีการทำลักษณะคล้ายธรรมนูญสุขภาพ เพื่อคัดเลือกดูแล ระบบการติดตามตรวจสอบอาจจะไม่ต้องถึงขึ้นติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มี เช่น โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปส่งรายงาน คาดว่าหากได้รับอนุมัติน่าจะเริ่มปลูกได้ในเดือนม.ค.2564 ช่วงหลังปีใหม่
“ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องทดลองให้ประชาชนปลูกกัญชา 6 ต้น โดยไม่ต้องใช้โรงเรือน แต่ต้องมีรั้วรอบขอบชิด ต้องมาหาวิธีการปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งดิน และน้ำต้องไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี และโลหะหนัก ซึ่งผลผลิตที่ได้จะกระจายให้ 2 ช่องทางคือส่งรพ.สต.บ้านโนนมาลัยเพื่อผลิตตำรับยาที่ไม่ยุ่งยาก หากผลผลิตมากก็ส่งต่อรพ.คูเมืองได้ ที่เราต้องทำนำร่อง ทำสเกลเล็ก จะได้เห็นปัญหา และหาแนวทางแก้ปัญหาให้ดีที่สุด จากนั้นจะขยายระดับจังหวัด ระดับเขต และทำสเกลใหญ่ขึ้นเมื่อมีความชัดเจนเรื่องรูปแบบที่ได้ผล”นพ.กิตติ กล่าว
- 56 views