ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศ.นพ.เกียรติ” เผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของไทยเดินหน้าทดลองในอาสาสมัครเฟสแรกหลังสงกรานต์ ก่อนเข้าเฟสที่ 2 ช่วงมิ.ย.64 ส่วนกรณี “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” ประกาศประสิทธิภาพวัคซีน ถือเป็นข่าวดี เหตุใช้ mRNA เหมือนกัน

กลายเป็นความหวังของคนทั้งโลก หลังจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทโมเดอร์นา ประกาศการทดลองวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า 90% ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาวัคซีน ที่รู้จักกันในชื่อ mRNA ขณะที่ประเทศไทยก็เช่นกัน โดย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA เช่นกัน ในชื่อว่า “CU-Cov19”

จึงเกิดคำถามว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจุฬาฯ มีความคืบหน้าอย่างไร ล่าสุดโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดกิจกรรม “โควิดมาราธอน : ห่างกันไว้..แต่ไปด้วยกัน” เพื่อเปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความคาดหวังวัคซีนโควิด-19 ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา

โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า สำหรับการวิจัยของจุฬาฯ ก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยอยู่ในขั้นตอนการผลิตเพื่อทดสอบในอาสาสมัคร โดยเราเริ่มส่งโรงงานเพื่อผลิตเดือน ต.ค.2563 ซึ่งมี 2 ขั้นตอน คือ การผลิตตัวเนื้อวัคซีน mRNA และตัวเคลือบ และการผลิตก็จะมีแต่ละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ทดลองในสเกลเล็ก คือโรงงานต้องลองก่อน โดยใช้เวลาเกือบ 2 เดือน ก่อนเข้าสู่สเกลใหญ่ วิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งแต่ละโรงงานก็จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง ซึ่งโรงงานแรกจะผลิตและส่งให้โรงงานแห่งที่ 2 ได้ก็ประมาณต้นปี 2564 ขณะที่โรงงานที่ 2 จะเริ่มทดสอบสเกลเล็ก และผลิตให้เราได้ช่วงต้นเม.ย.

ดังนั้น คาดว่าจะเริ่มฉีดในอาสาสมัครคนไทยในระยะที่ 1 ก็น่าจะช่วงหลังสงกรานต์ หรือประมาณวันที่ 19 เม.ย.2564 เพื่อหาขนาดวัคซีนที่เหมาะสมในคนไทย และหลังจากนั้นประมาณเดือน มิ.ย.2564 จะเข้าสู่การทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 2 ต่อไป

“สำหรับการทดลองในระยะที่ 3 ของไทยอาจไม่ต้องดำเนินการ เนื่องจากหากมีงานวิจัยวัคซีนโควิดผ่านเฟส 3 หลายตัว และเรามีข้อมูลว่า ต้องกระตุ้นแอนติบอดี หรือภูมิต้านทานให้ได้ประมาณ 200 ยกตัวอย่าง หากเราทดลองฉีดคนไทย 90% พบว่ากระตุ้นภูมิต้านทานสูงเกิน 200 หรืออาจสูงถึง 500 แสดงว่าภูมิต้านทานเราสูงเพียงพอ และทาง อย. พิจารณาว่า เมื่อกระตุ้นภูมิฯ เพียงพอ และมีข้อมูลว่าปลอดภัย ซึ่ง อย.อาจขอข้อมูลเพิ่มอีกเล็กน้อย หรืออาจให้ฉีดในอาสาสมัครอีกรอบ เพื่อดูว่าภูมิต้านทานนิ่งหรือไม่ เมื่อนิ่งก็จะสามารถผลิตได้ภายในปลายปี 2564 ซึ่งหากเป็นไปตามที่ยกตัวอย่างและคาดการณ์ก็จะสามารถดำเนินการได้” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำนวนอาสาสมัครในระยะที่ 1 และ 2 จะคัดเลือกอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า สำหรับระยะที่ 1 จำนวนอาสาสมัครไม่มาก โดยแบ่งเป็นกลุ่ม อาจกลุ่มละ 12 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มอายุ เช่นอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน ส่วนอายุมากกว่านั้นก็อีก 36 คน โดยจะแบ่งจำนวนโดสที่แตกต่างกันไป และเมื่อทราบจำนวนโดสในแต่ละกลุ่มอายุ ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งก็จะแบ่งช่วงอายุละ 300 คน รวม 600 คน ซึ่งจะมีเกณฑ์การคัดเลือก โดยทางทีมวิจัยจะมีการประกาศต่อสาธารณะให้ทราบผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ ซึ่งจะมีคณะกรรมการคัดเลือก

“ปัจจุบันก็มีผู้สนใจอาสาสมัครจำนวนมาก แต่ต้องเข้าใจว่า วัคซีนนี้เป็นวัคซีนวิจัย และขณะนี้ยังเปิดรับไม่ได้ ต้องรอทาง อย.พิจารณา ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ซึ่งในช่วงเฟสที่ 1 จะใช้อาสาสมัครจำนวนไม่มาก แต่ในเฟสที่ 2 จะใช้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จะมีการเผยแพร่ผ่านทางสาธารณะในช่วงตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 เป็นต้นไป” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

เมื่อถามถึงการประกาศผลการวิจัยวัคซีนโควิดของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อกว่า 90% จะส่งผลในแง่ไทยสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาวัคซีนได้หรือไม่....ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จริงๆ องค์ความรู้ของเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพิสูจน์ว่า ความรู้ที่เรามี ทั้งร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา กับที่ซื้อสิทธิบัตรมาส่วนหนึ่ง จะดีกว่า หรือเท่ากับของเขาหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญเราต้องทราบก่อนว่า เราจะผลิตให้ได้ปริมาณมากในราคาต้นทุนไม่แพงได้อย่างไร ส่วนเรื่องเทคนิคนั้น ขณะนี้เราได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอความสำเร็จของวัคซีนโควิด19 ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า แม้มีวัคซีนโควิด-19 แล้ว สิ่งสำคัญการ์ดอย่าตก เพราะอย่างไรเสียต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เพราะวัคซีนที่ดียังคงเป็นพวกเราทุกคนที่ต้องปฏิบัติตนตามสุขลักษณะ และแนวปฏิบัติในการป้องกันโควิด19

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การประกาศประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดของบริษัททั้งสองแห่ง ยังเป็นผลเบื้องต้น จึงต้องติดตามต่อไป แต่ถามว่าเป็นข่าวดีหรือไม่ แน่นอนว่าใช่ ซึ่งในส่วนของไทย โดยจุฬาฯ ก็มีการพัฒนาวัคซีนก็เป็นชนิดเดียวกัน คือ mRNA อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยวางแผนต้องมีวัคซีนโควิดให้คนไทยร้อยละ 50 ของประชากรหากวัคซีนสำเร็จ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแค่นี้ ย่อมมีการขยายสัดส่วนเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีการจองวัคซีนจากต่างประเทศควบคู่กับความหวังการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิดของคนไทยด้วย

“สิ่งสำคัญของการพัฒนาวัคซีนโควิด19 ต้องมองให้ไกลกว่าโควิด โดยถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้ความสำคัญการพัฒนาวัคซีน เพราะจริงๆ คนไทยมีศักยภาพ เพียงแต่เราไม่พร้อมเท่าหลายประเทศ ตรงเครื่องไม้เครื่องมือ โรงงาน และการสร้างคน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้” นพ.นคร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง