รายงานผลการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด 1 ต.ค. 62 ถึง 30 ก.ย. 63 พบเกินกฎหมายกำหนด 6,768 ตัวอย่าง จำแนกตามประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพและรถเก๋ง ตามลำดับ 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องในประเทศไทยมานานนับสิบปี สร้างความสูญเสียแก่ร่างกาย ชีวิต                  และทรัพย์สินของคนไทย ทำให้เกิดความเดือดร้อนในสังคม สาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทราบกันดีคือ การเมาแล้วขับ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน รวมถึงการสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ครอบครัวทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางจึงต้องมีความระมัดระวัง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ยานพาหนะ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง 

ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัวผู้ขับขี่ส่งสถานพยาบาลทำการ               เจาะเลือด ภายใน 6 ชั่วโมง (หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดต่ำลง) และส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์             ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และส่วนภูมิภาคที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Gas Chromatography (Headspace GC-FID) ซึ่งให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำและได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 ทราบผลภายใน 7-10 วันทำการ              หรือในกรณีช่วงเทศกาลสามารถดำเนินการตรวจวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อนำผลไปประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า              

หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หรือผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลรายงานผลการปฏิบัติงานการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด                ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 มีตัวอย่าง    ที่ส่งตรวจแบ่งตามหน่วยงานจากศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 12 แห่ง จำนวนรวม 12,912 ตัวอย่าง เพศชาย 11,442 ราย เพศหญิง 1,391 ราย และไม่ระบุเพศ 79 ราย ผลตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือดพบเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 6,768 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 52.4 ผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 40 ปี (อายุระหว่าง 20-94 ปี) และผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ที่อายุไม่ถึง 20 ปี มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 18 ปี (อายุระหว่าง 11-19 ปี) จำแนกตามประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 7,754 คัน รถปิคอัพ 2,024 คัน รถเก๋ง 1,027 คัน รถบรรทุก 246 คัน รถจักรยาน 150 คัน รถบรรทุกทางการเกษตร(อีแต๋น) 14 คัน ไม่ระบุประเภท 1,015 และอื่นๆ 682 คัน

 “ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติให้มีวันหยุดเพิ่มในวันพฤหัสบดีที่ 19 และวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2563           โดยประกาศเป็นวันหยุดราชการพิเศษ ทำให้มีวันหยุดยาว 4 วัน เพื่อเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับในช่วงวันหยุดยาวขอประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดหรือท่องเที่ยวให้คำนึงถึง              ความปลอดภัยและช่วยกันลดอุบัติเหตุ เน้นย้ำเมาไม่ขับ ขับรถคาดเข็มขัดนิรภัย จักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ขับขี่รถไม่เกินกฎหมายกำหนด ปฏิบัติตามกฎจราจร และตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทาง” นพ.ศุภกิจ กล่าว