ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักระบาดวิทยา 38 ประเทศ วาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกผ่านระบบออนไลน์ “จากวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม”
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยต์ เพลินจิต กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก “จากวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม” โดยไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2563 มีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ จาก 38 ประเทศ จำนวน 150 คนเข้าร่วมประชุม
นายอนุทินกล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถรับมือการระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำด้านสาธารณสุขที่ผ่านมา และพันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมกันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนามมากว่า 40 ปี และการสาธารณสุขมูลฐาน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคีเครือข่าย ที่มีการทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยประเทศไทยได้ใช้วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาเป็นโอกาสในการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งการใช้ระบาดวิทยามีความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสาธารณสุข เช่น การผ่อนคลายมาตรการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ควบคู่กับความปลอดภัยด้านสุขภาพ จึงจำเป็นจะต้องมีกำลังคนที่เพียงพอในการรองรับงานป้องกันและควบคุมโรค
ประเทศไทยให้ความสำคัญใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.การวางแผนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่สอดคล้องกับความจำเป็นของระบบสาธารณสุข 2.การผลิตและความก้าวหน้าในวิชาชีพของบุคลากร ทั้งด้านการรักษาและการป้องกันควบคุมโรค 3.การเตรียมการรองรับภาวะฉุกเฉิน มีกำลังคนที่มีความสามารถ พร้อมรับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ4.มีเครือข่ายของสหสาขาวิชาชีพที่มีความหลากหลายและเป็นหนึ่งเดียวในการป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการฝึกอบรมแพทย์และบุคลากรระบาดวิทยาภาคสนามต่อเนื่องมา 40 ปี และมีเครือข่ายที่ผ่านการพัฒนาทักษะการสอบสวนและควบคุมโรค ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อของไทย และกฎอนามัยระหว่างประเทศ ทำให้จำกัดวงการระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมควบคุมโรคในฐานะประเทศผู้นำในการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยา พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานในประเทศและร่วมกับประเทศสมาชิกวาระความมั่นคงสุขภาพโลก ให้บรรลุเป้าหมายคือการเพิ่มสมรรถนะบุคลากรให้ได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำงานระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามในระบบสาธารณสุขเพียง 160 คน จึงต้องเร่งจัดทำแผนการผลิตให้ได้ 350 คนภายใน 10 ปี และครอบคลุมทุกจังหวัด พร้อมหาแนวทางในการแก้ปัญหาการผลิตนักระบาดวิทยาภาคสนามของประเทศไทย ทั้งนี้ การประชุมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกในครั้งนี้ จะสรุปผลและนำเสนอต่อการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกวาระความมั่นคงสุขภาพโลก ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2563
- 3 views