สถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบปีละ 3 แสนราย เสียชีวิตกว่า 3 หมื่นราย สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยแนะ 3 อาการ "พูดลำบาก ปากตก ยกไม่ขึ้น" ต้องรีบไปโรงพยาบาล
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคร้ายที่คนทั่วโลกถึง 1 ใน 4 มีความเสี่ยงที่จะเป็น ด้วยความรุนแรงของโรคที่ทำให้พิการและเสียชีวิต ทำให้องค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) ทางสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ และสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย จัดงานเสวนา "สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย" เพื่อเน้นย้ำถึงอันตราย ให้ประชาชนได้ตระหนัก สังเกตอาการ และรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด พร้อมรณรงค์โครงการ "Stroke รู้เร็ว รอด" โทรสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ภายในงาน ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถิติของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองว่า จากการสํารวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่า ปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 14.5 ล้านคนต่อปี 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข (ปี 2556 - 2560) จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปี 2560 พบผู้ป่วยเกิดใหม่จำนวน 304,807 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย
"จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งคือคนตระหนักรู้มากขึ้นจึงมาโรงพยาบาลมากขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรม การใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ค่อยออกกำลังกาย และความเครียด ล้วนมีผลต่อโรคนี้ แต่ผู้สูงอายุมีปัจจัยเรื่องความเสื่อมหรือโรคต่าง ๆ จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมากที่สุด ส่วนผู้ป่วยในวัยกลางคนที่ใช้ยา สารเสพติดบางชนิด การได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนศีรษะหรือคอ ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ป่วยเด็กจะพบจากเรื่องพันธุกรรมที่เราป้องกันไม่ได้" ศ.พญ.นิจศรี กล่าวและย้ำด้วยว่า การเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะทำให้ครอบครัวสูญเสียในระยะยาว ตั้งแต่การสูญเสียรายได้จากการไม่ได้ทำงานของผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้อง ครอบครัวต้องมาดูแล การจ้างคนดูแล รวมถึงค่ารักษา เพราะค่าใช้จ่ายที่ใช้รักษาระยะยาวที่ต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายราวปีละ 2-3 ล้านบาทต่อคน ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งส่วนตัว ครอบครัว และประเทศชาติโดยรวม
ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่า การเจาะติ่งหูหรือเจาะปลายนิ้วเพื่อระบายเลือดนั้น ศ.พญ.นิจศรี ยืนยันว่า ไม่สามารถช่วยได้ มีกรณีของคนไข้ที่ทำเช่นนี้ กลายเป็นว่า พิการระยะยาว เพราะการเจาะปลายนิ้วอาจทำให้ความดันโลหิตสูง หรือทำให้เลือดออกเยอะ อันตรายยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังเสียเวลา ทุกเวลาที่มาช้า เซลล์สมองก็จะตายเยอะขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญคือ ช่วงเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง เป็นเวลาที่จะให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ เพราะสมองตอนขาดเลือดจะยังไม่เสียชีวิตทันที ส่วนใหญ่จะสลบไปก่อน เซลล์ยังอยู่รอดได้ ถ้าสลบไปนานก็ไม่ฟื้นถ้าไม่สามารถทำให้เลือดกลับไปเลี้ยงได้สมองส่วนนั้นก็ไม่อาจกลับมาทำงานได้ตามปกติ หากเกินเวลาอาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมองจนเป็นอันตรายได้
ด้านพญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้อธิบายถึงโรคหลอดเลือดสมองว่า โรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ส่วนใหญ่เกิดจากเลือดที่ไปเลี้ยงสมองผิดปกติ ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน สมองขาดเลือด ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตก จะเกิดจากก้อนเลือดไปกดเนื้อสมอง โดยอาการสำคัญได้แก่ อ่อนแรงครึ่งซีก อัมพาตครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ความรู้สึกลดลงหยิกไม่เจ็บ พูดไม่ชัด พูดลำบาก คิดคำพูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ปากตก หน้าเบี้ยว ยิงฟันร่องแก้มสองข้างไม่เท่ากัน ทานน้ำหกมุมปาก แขนขาไม่มีแรง ทรงตัวลำบาก ตามองเห็นภาพผิดปกติ มืดมัวข้างเดียวทันที หรือมองเห็นภาพซ้อน ตัวอย่างอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ เพราะหนึ่งนาทีขาดเลือด เซลล์สมองตายไปสองล้านเซลล์ หากรักษาช้า เนื้อสมองก็จะขาดเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดความพิการมากขึ้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
"อาการหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกนั้นคล้ายคลึงกันมาก แต่กรณีหลอดเลือดสมองตีบบางรายจะมีอาการหลังตื่นตอนเช้า ตื่นปุ๊บมีอาการทันที อาจจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบมากกว่า หลอดเลือดสมองแตกบางรายอาจจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หรือมีประวัติความดันโลหิตสูงมาก่อน ส่วนอาการหลอดเลือดสมองแตกก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย ขึ้นอยู่กับปริมาณก้อนเลือด ซึ่งแพทย์ต้องทำการวินิจฉัยและเอ็กซเรย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง" พญ.ทัศนีย์ กล่าวย้ำ
ด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง อ.นพ.เจษฎา อุดมมงคล นายกสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย เสริมว่า การรักษาหลอดเลือดสมองเป็นการรักษายาว แบ่งเป็นการรักษาช่วงเฉียบพลัน ต้องมาเร็วเพราะเป็นเวลาทอง หากเลยเวลาจะมีปัญหาทุพพลภาพสูง ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือตีบตัน จะใช้ยาสลายลิ่มเลือด ซึ่งจะมีกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยใช้ยาฉีด แต่หากเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพจะทำการรักษาโดยการใช้สายสวนเพื่อลากลิ่มเลือดออกมา ทำให้หลอดเลือดเปิด เพื่อรักษากับโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองตามปกติ หรือการรักษาโดยใช้ยารับประทาน ก็เป็นการรักษาเฉียบพลันได้เช่นกัน
การเป็นโรคหลอดเลือดสมองยังเสี่ยงเป็นซ้ำได้อีก การป้องกันจึงสำคัญและต้องทำตลอดชีวิต อ.นพ.เจษฎา เผยถึงวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองว่า แนวทางป้องกันโรคนี้ทำได้โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม หวานจัด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควบคุมมระดับความดันโลหิต ระดับไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดเหล้า บุหรี่ และต้องหมั่นตรวจสุขภาพประจําปี
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องลดความเสี่ยง เลี่ยงพฤติกรรมอันตราย พร้อมยึดหลัก "Stroke รู้ เร็ว รอด" รู้ว่าอาการผิดปกติ ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาให้รวดเร็ว เพียงเท่านี้ก็จะเพิ่มโอกาสรอดจากความพิการและเสียชีวิต
- 895 views