เรารู้ว่าข่าวปลอมมีหน้าตาเป็นแบบไหน แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าทำไมคนถึงเชื่อข่าวปลอม เมื่อเร็วๆ นี้นักวิชาการสาขาต่างๆ   ได้เปิดเผยงานวิจัยเพื่อทำความเข้าใจจิตวิทยาของผู้รับสารว่าทำไมคนเหล่านี้่ถึงเชื่อข่าวปลอมกัน มันมีเหตุผลอธิบายหรือไม่ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์?

            งานวิจัยนี้เผยแพร่ในหนังสือวิชาการออนไลน์ "The Psychology of Fake News" ซึ่งส่วนหนึ่งมีเนื้อหาวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้เราเชื่อและแบ่งปันข้อมูลที่ผิดรวมถึงความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด และยังเสนอวิธีการเพื่อแก้ไขความเชื่อผิดๆ และลดการแพร่กระจายของข้อมูลพวกนี้

            ผู้เป็นบรรณาธิการร่วมคือ ดร. เอริน นิวแมน (Eryn Newman) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และศาสตราจารย์รอเบิร์ท แอคแลนด์ ( Robert Ackland) ผู้ร่วมเขียนจากคณะสังคมศาสตร์ของ ANU พบว่าเรามีความเสี่ยงที่จะมีอคติเมื่อบริโภคข่าวและเครือข่ายโซเชียลอำนวยความสะดวกในการเผยแพร่ข่าวปลอม

            ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) พบว่า สมองของคนเราอาจเชื่อถือไม่ได้เมื่อต้องประมวลผลเพื่อถอดรหัสข่าวปลอมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาดหัวข่าวซ้ำๆ เพื่อย้ำให้เชื่อ ในประเด็นนี้นอร์เบิร์ท ชาร์ทซ์ (Norbert Schwarz) ศาสตราจารย์ในภาควิชาจิตวิทยาและสถาบันมาร์ชอลว่าด้วยธุรกิจศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) ชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของการตอกย้ำข้อมูลที่เด่นชัดคือการอ้างในเรื่องที่คนรู้สึกไม่แน่ใจ แม้แต่คนที่รู้ชัดในเรื่องข้อมูลนั้นๆ ว่าเป็นเรื่องเท็จ เมื่อเจอเข้ากับการตอกย้ำข้อมูลข่าวปลอมซ้ำก็อาจจะไขว้เขวได้

            ตัวอย่างเช่นการพูดตอกย้ำความเท็จคำว่า “มหาสมุทรแอตแลนติกเป็นมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก” หากปล่อยข้อมูลซ้ำๆ มากขึ้นก็จะเป็นข้อมูลที่ได้รับยอมรับแม้กระทั่งในหมู่คนที่รู้ว่ามหาสมุทรแปซิฟิกมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อคำพูดซ้ำๆ ทำให้เกิดรู้สึกคุ้นเคยมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้รับสารก็จะพยักพเยิดรับว่าจริงโดยไม่ตรวจสอบเทียบกับความรู้ของตน แม้แต่เมื่อเตือนผู้รับสารให้ระวังข้อมูลเท็จก็จะไม่ได้ผล (2)

            นอกจากนี้ นำเสนอข้อมูลประกอบด้วยภาพถ่ายยิ่งทำให้คนทั่วไปง่ายต่อการจินตนาการว่าเรื่องที่นำเสนอเกิดขึ้นจริงๆ ตามนั้น

            "รูปถ่ายประกอบในสื่อไม่เพียงแต่อาจทำให้คนประเมินความจริงอย่างลำเอียง แต่ยังทำให้จินตนาการเกินเลยไปถึงความรู้หรือความทรงจำเกี่ยวกับข้อมูลที่อ้างมา"  ดร. นิวแมนกล่าว

             ดร. เอริน นิวแมน กล่าวด้วยว่า จากการวิจัยพบว่าผู้คนส่วนใหญ่สรุปว่าภาพถ่ายประกอบช่วยให้พวกเขาเข้าใจข่าวปลอมว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ส่งผลให้ฉุกคิดว่าข้อมูลที่รับมาเป็นความจริงหรือไม่ มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าภาพเป็นตัวถ่ายช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ หรือเป็นกลุ่มที่กังขาว่าภาพถ่ายทำให้ข้อมูลนั้นๆ มีความชอบธรรมมากขึ้น

            นี่คืออิทธิพลของภาพถ่ายต่อการยอมรับข่าวปลอมซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ร้ายกาจมาก เพราะถึงแม้ว่าผู้คนอาจจะมั่นใจในความสามารถของตัวเองในการแยกแยะข้อเท็จจริงจากเรื่องแต่งและแยกความจริงจากเรื่องโกหกและของจริงจากของปลอม แต่ผลจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าความจริงและข้อเท็จจริงผันแปรไปตามอคติที่เราไม่รู้ตัวว่าเรามีอยู่

            แม้แต่เว็บไซต์ที่เสียดสีเช่น The Onion หรือ The Borowitz Report ซึ่งเป็นสำนักข่าวเสียดสี (ไม่ใช่ข่าวปลอมแต่ก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกระบุว่าเป็น Fake news ในความหมายเชิงบวก) ก็สามารถเข้าใจผิดว่าเป็นข่าวจริง ดร. นิวแมนกล่าวว่าเป็นเพราะผู้คนไม่ตระหนักว่ามันเป็นการเสียดสี เพราะสำนักข่าวเสียดสีเหล่านี้ใช้ภาพถ่ายตกแต่งและตัวแปรอื่นๆ เช่นการพูดซ้ำๆ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดความเชื่อผิดๆ ว่ามันเป็นข้อเท็จจริง

            ศาสตราจารย์โรเบิร์ต แอ็คแลนด์ (Robert Ackland) ผู้ร่วมเขียนกล่าวว่าโซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้มีอำนาจในการเผยแพร่ข่าวโดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงเล็กน้อย

            "ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ (การกระจายข่าวโดยไม่ตรึกตรอง) คือปรากฏการณ์ "ตัวกรองฟองสบู่" (filter bubbles) โดยอัลกอริทึมที่บริษัทโซเชียลมีเดียใช้งานจะทำการเลือกเนื้อหาใหม่ให้กับผู้ใช้ตามการมีส่วนร่วมกับเนื้อหาก่อนหน้านี้ สิ่งนี้ช่วยตอกย้ำรูปแบบการบริโภคข้อมูลและมีโอกาสน้อยที่ผู้ใช้จะสัมผัสกับข้อมูลใหม่" ศาสตราจารย์แอ็คแลนด์ กล่าว (1)

            "ตัวกรองฟองสบู่" (filter bubbles) เป็นคำที่ประกาศเกียรติคุณโดยอีไล แพไรเซอร์( Eli Pariser) นักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ต โดยมันคือสภาวะที่ภูมิปัญญาของคนเราถูกแยกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยขาดจากการถ่วงดุลข้อมูล ซึ่งอาจอาจเป็นผลมาจากการค้นหาส่วนบุคคลทางอินเทอร์เน็ตเมื่ออัลกอริทึมของเว็บไซต์เลือกเดาข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการดูโดยพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ เช่นสถานที่ตั้งพฤติกรรมการคลิกในอดีตและประวัติการค้นหา เป็นผลให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกโดดเดี่ยวจากข้อมูลที่ไม่สอดลคล้องกับมุมมองของพวกเขา และทำให้พวกเขามีสภาพเหมือนอยู่ในฟองสบู่ในสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลข่าวสารที่ลำเอียงเข้าข้างรสนิยมตัวเอง (3)

            ไรเนอร์ ไกรเฟนเนอเดอร์ (Rainer Greifeneder) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยบาเซิลประเทศสวิตเซอร์แลนด์หนึ่งในผู้ร่วมเขียนบอกว่า สาเหตุที่คนเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นเพราะบ่อยครั้งที่พวกเขาเชื่อว่าข้อมูลเป็นความจริงเนื่องจากอคติแบบฮิวริสติก การคิดแบบฮิวริสติกส์ (วิทยาการศึกษาสำนึก/Heuristic) เป็นวิธีคิดหาทางออกที่ง่ายที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการคิดเชิงวิพากษ์ที่กินเวลานาน อีกสาเหตุหนึ่งในการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิด เกี่ยวข้องกับแรงกดเพื่อให้ได้รับยอมรับทางสังคม (2)

            ศาสตราจารย์ไกรเฟนเนอเดอร์ชี้ว่า เมื่อมีคนเชื่อข้อมูลที่ผิดก็จะยากที่จะเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ ยิ่งมีความพยายามแก้ไขการปลอมแปลงข้อมูลก็อาจทำให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่กระจายออกไปโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอุดมการณ์เฉพาะ (ซึ่วก็คือภาวะตัวกรองฟองสบู่) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจจับข้อมูลเท็จอย่างถูกต้องและทันท่วงที

            อย่างไรก็ตาม มีวิธีการแก้ไขผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้รับข่าวปล่อมเช่นกันนั่นคือกลวิธีที่คล้ายกับหนามยอกเอาหนามบ่ง

            อย่างที่นักวิจัยชี้วาการตอกย้ำข้อมูลซ้ำๆ มีผลทำให้ผู้รับสารเชื่อข่าวหลอมได้ง่ายแม้แต่คนที่รู้ว่ามันเป็นเท็จก็ยังเชื่อมันจนได้ถ้าถูกยักข้อมูลผิดๆ ซ้ำๆ แต่การตอกย้ำข้อมูลซ้ำก็สามารถนำมาใช้แก้ไขข่าวปลอมได้เช่นกัน และวิธีการนี้ประหยัดเวลากว่าการอธิบายเป็นรายบุคคลหรืออธิบายอย่างละเอียดทีละขั้นซึ่งได้ผลจำกัด และอาจทำให้เป้าหมายที่รับข้อมูลลืมว่าข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องที่ถูกป้อนให้

            วิธีการก็คือทำซ้ำข้อมูลเท็จเพื่อแก้ไขความเท็จนั้่นแล้วแพร่กระจายข้อมูลเท็จไปยังผู้รับสารที่อาจไม่เคยพบข้อมูลดังกล่าวมาก่อน เมื่อได้รับข้อมูลดังกล่าวอีกครั้งผู้รับสารก็จะคุ้นเคยกับมันขึ้นเล็กน้อยและง่ายต่อการประมวลผล วิธีการทำซ้ำจะต้องมีการระบุกำกับด้วยว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จหรือจริงเพื่อให้เป้าหมายรู้สึกคุ้นเคย

            ตัวอย่างเช่น นักวิจัยกลุ่มหนึ่งแบ่งกลุ่มทดสอง 2 กลุ่มเป็นกล่มผู้ที่มีอายุมากและกลุ่มอายุน้อยกว่า จากนั้นส่งสารเกี่ยวกับความผลิตภัณฑ์บางอย่างให้กับคนกลุ่มนี้หนึ่งครั้งหรือสามครั้ง เช่นข้อความที่บอกว่า “กระดูกอ่อนปลาฉลามดีต่อโรคข้ออักเสบของคุณ” โดยข้อความเหล่านี้ถูกระบุอย่างชัดเจนว่า “จริง” หรือ“ เท็จ” เมื่อพวกเขาได้รับแจ้งว่าเป็นเท็จบ่อยครั้งมากขึ้น ผู้รับสารจะมีโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ ที่จะยอมรับว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริง (2)

            แต่ทีมงานผู้ผลิตหนังสือเล่มนี้บอกว่าในระดับปัจเจกชนแล้ววิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันข่าวปลอมก็คือการสงสัยเอาไว้ก่อน เพราะเมื่อผู้รับสารย่อยข้อมูลและซึมซับมันไปแล้วโอกาสที่คนรับข่าวปลอมจะฟังคำเตือนก็จะมีผลน้อยลง และยิ่งไปกว่านั้นการเตือนอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้เกิดความรู้สึกสงสัยและไม่เชื่อใจข้อมูลจริงและทำให้ไม่อยากจะยอมรับความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อ้างอิง

1. Ireland, Olivia. "The psychology of fake news".  Phys.org. (September 18, 2020). Retrieved September 19, 2020.

2. Greifeneder, R. (Ed.), Jaffe, M. (Ed.), Newman, E. (Ed.), Schwarz, N. (Ed.). (2021). The Psychology of Fake News. London: Routledge, https://doi.org/10.4324/9780429295379

3. Wikipedia contributors. "Filter bubble." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 10 Sep. 2020. Web. 19 Sep. 2020.

 

ภาพ Paweł Janczaruk / wikipedia(CC BY-SA 3.0)