กรมควบคุมโรคออกประกาศเตือนโรคภัยช่วงฤดูหนาว พร้อมเผยข้อมูลปี 62 พบผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังฯ 37 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน 25 ราย และนอกบ้าน 12 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่ม รองลงมามีโรคประจำตัว และดื่มสุราเป็นประจำ
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง) 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด โรคมือ เท้า ปาก) และ 4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และการขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย)
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.โรคปอดอักเสบ พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ 1.โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย ดื่มน้ำที่สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน
กลุ่มที่ 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ 1.โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา และจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง 2.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ ในการป้องกัน ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน สถานศึกษาตรวจคัดกรองเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ส่วนกลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ ได้แก่ 1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และ2.ขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษ
โดย 1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว นิยามคือ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นในหรือนอกที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร สถานที่สาธารณะ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอในพื้นที่อากาศหนาว และคาดว่าเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ในช่วงฤดูหนาวตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2562 - 29 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่ามีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังฯ 37 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน 25 ราย และนอกบ้าน 12 ราย (นอนบนเตียงไม้หน้าบ้าน นอนในเปล นอนในเรือ) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่มหรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ตามลำดับ สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอและอยู่อาศัยในที่อบอุ่น งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงไม่ห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
2.การขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย ซึ่งฤดูหนาวจะมีประชาชนท่องเที่ยวตามภูเขาและยอดดอย และพักผ่อนในเต็นท์ โรงแรม หรือรีสอร์ต โดยเรื่องที่น่าห่วงคืออาจได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมของในปริมาณมากจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน ข้อมูลปี 2562 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พบว่ามีรายงาน 4 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและอุปกรณ์ทำความอบอุ่นต่างๆ ในการป้องกันคือ ไม่ควรจุดตะเกียงหรือเตาไฟที่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายในเต็นท์และภายในที่พักอาศัยที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอ เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต ควรมีการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส มีช่องหรือพัดลมระบายอากาศที่ได้มาตรฐาน ติดป้ายเตือนอันตราย และข้อควรปฏิบัติในการใช้งานอย่างชัดเจน ควรเว้นระยะเวลาการอาบน้ำต่อกันหลายคนอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และสถานประกอบการควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและรีบออกจากห้องน้ำ หรือพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
“ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่างๆ รวมถึงสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.โอภาส กล่าว
- 215 views