รามาธิบดีพัฒนาพยาบาลให้เชี่ยวชาญด้วย APN หลักสูตรวุฒิบัตรฯ ตอบโจทย์วิถีชีวิตสมัยใหม่ รักษาผู้ป่วยอาการซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคภัยในปัจจุบันซับซ้อนขึ้นทุกวัน บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องพัฒนาศักยภาพให้พร้อมสู้กับโรคอุบัติใหม่อยู่เสมอ เช่นเดียวกับพยาบาลที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ ซึ่งไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อให้ก้าวทันโลกดิจิทัล เนื่องในวันพยาบาลแห่งชาติ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศิษย์เก่า APN หลักสูตรวุฒิบัตรฯ มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับ APN ตอบโจทย์การพยาบาลผู้ป่วยที่ซับซ้อน
ศ.เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ที่ปรึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึง APN ว่า APN (Advanced Practice Nurse) คือผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของคนสมัยนี้รวมถึงการมีโรคอุบัติใหม่ ผนวกกับความไม่เท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการพยาบาลให้เชี่ยวชาญเพื่อดูแล เป็นที่ปรึกษาของผู้ป่วยและครอบครัว
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยผู้สูงอายุนั้นเปราะบาง ความสามารถในการปรับตัวจะแคบมา การพยาบาลจึงได้จัดการศึกษาให้มีหลักสูตรเกี่ยวกับผู้สูงอายุตั้งแต่ปริญญาตรี รับมือในกรณีที่ต้องรักษาแบบเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยวิกฤต แต่ถ้ามีปัญหาสุขภาพเรื้อรังติดตัว หรือที่เรียกว่า โรคติดตัว การพยาบาลก็มีการเตรียมพร้อมกำลังพลในสัดส่วนที่พอเหมาะ รองรับสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้
ศ.เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล
"ปกติคนมองว่าพยาบาล ไม่ได้มีระดับความเชี่ยวชาญเช่นเดียวกับแพทย์ แต่จริง ๆ แล้ว งานพยาบาลก็ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเช่นกัน พยาบาล APN กลุ่มนี้เราเตรียมขึ้นมาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนไข้กับแพทย์ เพราะการดูแลคนไข้ที่ซับซ้อน ต้องอาศัยทั้งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและพยาบาลที่มีความชำนาญไปด้วยกัน ซึ่งพยาบาลจะรับผิดชอบคนไข้ในระยะยาวรับหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีปัญหาสุขภาพอาจไม่ต้องเข้ามา แต่พยาบาลจะคอยประสานทีมทั้งหมด หากคนไข้อยู่บ้านอาจไม่รู้ว่าอาการแบบนี้ต้องไปโรงพยาบาลหรือไม่ พยาบาลจะคอยแนะนำว่า แบบไหนต้องหาหมอด่วน หรือบางครั้งพยาบาลโทรหาแพทย์ และสามารถตรวจพบอาการและรักษาคนไข้ทันท่วงที คนไข้ก็ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน"
สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตรเป็นหลักสูตรที่มีคุณวุฒิเทียบเท่าปริญญาเอกทางด้านการปฏิบัติการพยาบาล...รศ. ดร.เรณู พุกบุญมี ประธานผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทย และ รองเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า เรามุ่งพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโททางการพยาบาล ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเชี่ยวชาญ โดยหลักสูตรนี้จะใช้เวลาฝึกอบรม 3ปี หลังจบการศึกษาผู้เข้าฝึกอบรม สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน เพิ่มทักษะการพยาบาลขั้นสูงที่จำเป็นในแต่ละสาขา สามารถปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยโดยตรง มีสมรรถนะเป็นผู้นำทีมในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล ทั้งยังสามารถพัฒนาระบบ ออกแบบนวัตกรรม และทำวิจัยทางคลินิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ. ดร.เรณู พุกบุญมี
รศ.ดร.เรณู ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรายังมีการให้บริการพยาบาลทางไกล (Telenursing) ภายใต้กฎหมายหรือข้อกำหนดของวิชาชีพการพยาบาล โดยผู้ป่วยจะเป็นคนไข้ที่พยาบาลเคยดูแล ประเมินภาวะสุขภาพมาแล้ว จนสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูแลต่อเนื่องระยะยาว ก่อนใช้ต้องยืนยันตัวบุคคลของพยาบาลและผู้ป่วยด้วย รวมทั้งมีคลินิกการพยาบาลไว้รองรับเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมาระยะหนึ่งแล้ว ก็สามารถเชื่อมโยงหน่วยบริการไปยังคลินิกนี้ หากพยาบาลทำอยู่ก็รับช่วยในการดูแลได้
ด้านผู้ผ่านการฝึกอบรมจากหลักสูตรฯ นาวาโทหญิง รัตตินันท์ สิงห์ประเสริฐ ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เล่าถึงหลักสูตรนี้ว่า การดูแลผู้ป่วยตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน ได้แก่ กลุ่มโรคกลุ่มเบาหวาน กลุ่มโรคไต กลุ่มมะเร็งศีรษะและลำคอ กลุ่มโรคลำไส้ใหญ่ออสโตมีและบาดแผล กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ศัลยกรรมประสาทสมองกลุ่มโรคระบบประสาทไขสันหลัง และกลุ่มผู้ป่วยระยะท้าย นอกจากนี้ เรากำลังดำเนินการเรื่องคลินิกการพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งผู้ที่จะเปิดคลินิกนี้ได้ต้องเป็นAPN แนวทางของคลินิกคือ การรับคนไข้ที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องเพราะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการมาโรงพยาบาลอาจเป็นความยากลำบากทั้งผู้ป่วยและญาติ การมีคลินิกเฉพาะทางโดยพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญจะสามารถแก้ไขและจัดการปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย
นาวาโทหญิง รัตตินันท์ สิงห์ประเสริฐ
ขณะที่ รศ. ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาสาธารณสุขเปลี่ยนแปลง ด้านสังคมและเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย พยาบาลจะมุ่งเน้นภาวะสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้จะสามารถดูแลผู้ป่วยซับซ้อนที่พยาบาลจบใหม่ทำไม่ได้ เช่น โรคเบาหวาน สมัยก่อนก็ให้อินซูลินไป แต่ด้วยการรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนเดิมการฉีดอินซูลินก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ตรงกับสุขภาพของผู้ป่วย ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการแนะนำเพื่อปรับวิถีชีวิตของคนไข้ พยาบาลวุฒิบัตรจะมองภาพกว้างและมีความเชี่ยวชาญในระดับสูง ที่จะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนหลายมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันเมื่อเผชิญกับปัญหา ก็ต้องหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา ทั้งการทำวิจัย และเรื่องนวัตกรรมที่ต้องตอบโจทย์กับยุคนี้ จะคิดเดิม ๆ ไม่ได้ ต้องมีเทคโนโลยี ทักษะในการดูแลผู้ป่วยใช้ใจ ใช้มือ ต้องรวมกัน ถ้าเราไม่คำนึงถึงศาสตร์พยาบาลก็ไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่การสาธารณสุขต้องปรับตัว
รศ. ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์
"เนื่องด้วยความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีที่ทำหน้าที่ผลิต APN วุฒิบัตรฯ จึงสนับสนุน APN ให้เป็นผู้นำในการช่วยเหลือพยาบาลวิชาชีพ ขณะนี้มีการเปิดช่องทางสื่อสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ APN ชวนคุย ซึ่งในแฟนเพจทุกคนจะได้แลกเปลี่ยน ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ สร้างเครือข่าย สร้างทีมในการพัฒนาพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงช่องทาง Line Official ชื่อว่า"APNbyRSoN" เป็นที่ปรึกษาในกรณีที่มีปัญหาเร่งด่วนเรามี APN ที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 10 สาขาคอยตอบคำถาม รวมทั้งมีการจัดประชุมทางวิชาการออนไลน์เดือนละ 1 ครั้ง ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนโดยไม่มีค่าลงทะเบียน และยังจัดการประชุมวิชาการสัญจรไปตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และสุดท้ายเป็นตัวกลางในการทำสนับสนุนส่งเสริมการทำวิจัย หรือR2R ระหว่างพยาบาลวิชาชีพที่สนใจในแต่ละสาขา" รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข ทิ้งท้าย
APN จึงเป็นอีกทางในการเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพพยาบาล เพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุและอาการป่วยอันซับซ้อนในโลกสมัยใหม่
- 2172 views