อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเมื่อครอบครัวมีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง เพราะอะไรจึงเกิดปัญหา และทางออกเป็นอย่างไร..

ทำอย่างไร...เมื่อครอบครัวมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง....

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมีประเด็นน่าสนใจ คือ

1) ความแตกต่างทางความคิดที่รุนแรงในสังคมได้เข้ามาในครอบครัว จะมีทางออกไหม

ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูหลักการพื้นฐาน 2 ประการ

- ความเห็นต่างในสังคมประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ เป็นต้นทุนเพราะเป็นโอกาสให้สังคมได้มีทางเลือก อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องเลวร้าย

- ครอบครัว เป็นปฐมบทของประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ เพราะคนรุ่นพ่อแม่เป็นคนเลี้ยงลูกมากับมือ เราย่อมรู้ว่าเราสอนไม่ให้ลูกเป็นคนเลวแน่นอน และลูกโตมากับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ก็รู้ว่าพ่อแม่เราดีแน่นอน ความสัมพันธ์นี้จึงเป็นรากฐานสำคัญของความที่ไว้วางใจ และนำไปสู่การเรียนรู้ความต่างได้

2) แล้วทำไมครอบครัวจำนวนมากถึงเกิดปัญหา เป็นเพราะเราเลี้ยงลูกให้เป็น Generation Me ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือเปล่า

- ในทุกGeneration มีการเลี้ยงดูหลากหลายทั้งแบบตามใจ ทะนุถนอมหรือใช้เหตุผล แต่ไม่ว่าจะเลี้ยงแบบไหน ก็เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้วสิ่งที่สำคัญ คือปัจจุบัน ที่เราสามารถมีวิธีการจัดการให้ดีโดยยึดหลักจากข้อ 1 (ความเห็นต่างเป็นต้นทุน และครอบครัวเป็นสายสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้)

- เยาวชนและคนหนุ่มสาว โดยทางจิตวิทยาเขาอยู่ในช่วงการค้นหาตนเอง (อัตลักษณ์) ซึ่งรวมทั้งอัตลักษณ์ทางสังคมด้วย (เช่น สังคมควรเป็นอย่างไร สถาบันต่างๆควรมีบทบาทอย่างไร) ยิ่งคนรุ่นนี้ใช้ IT ในการค้นหาข้อมูล เขาจึงมีความเห็นต่างกับเราที่รับข้อมูลคนละชุด รวมทั้งการใช้สื่อสังคมทำให้เขารวมพลังได้เร็ว โดยเฉพาะกับคนรุ่นใกล้กัน ดังนั้นการที่พ่อแม่จะเข้าไปมีส่วนช่วยจึงไม่ใช่แบบสมัยเขาเป็นเด็กๆที่เราใช้การสั่งสอน รวมทั้งอำนาจ (ห้ามปราม)

3) แล้วครอบครัวจะคุยกันได้อย่างไร

- ลำดับแรกผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อนที่จะรับฟัง โดยถือความต่างเป็นต้นทุน ความไว้วางใจจะกลับคืนมา ไม่ยากเขาก็จะฟังเราแล้วการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้น ถึงแม้แต่ละฝ่ายอาจไม่เปลี่ยนความคิดความเชื่อของตนเองไปตามอีกฝ่าย แต่ก็จะเข้าใจและยอมรับกับความเห็นอีกฝ่ายได้จึงอยู่กันได้อย่างเป็นสุข

- ในทางตรงข้ามการใช้การสั่งสอน ห้ามปราม หรือด่าว่า ก็ยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรงขึ้น ไม่นำไปสู่ความเข้าใจ การเรียนรู้ และการยอมรับ สำคัญคืออย่าเพิ่งคุยกันถ้ามีอารมณ์

- สำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวเอง ก็ควรเตือนกันเองให้รับฟังผู้ใหญ่และหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำรุนแรงเช่นกัน

4) ถ้าลูกยังยืนยันไปชุมนุมพ่อแม่จะทำอย่างไร

- ควรเริ่มจากการฟังเหตุผลมากกว่าห้ามปราม

- แสดงความชื่นชมในความตั้งใจดีต่อสังคม (แม้จะเห็นต่าง)

- มีทางเลือกหลายๆแบบ เช่นติดตามที่บ้าน ไปรับส่งหรือร่วมสังเกตการณ์

- แสดงความรักความเป็นห่วง หากเขายืนยันจะไป จัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยและช่องทางการติดต่อ

5) ครอบครัวควรทำอะไรกับสังคม

- นอกจากรับฟังและเรียนรู้ร่วมกันแล้วที่สำคัญคือต้องช่วยให้สังคมและรัฐไม่ใช้ความรุนแรง

- ความรุนแรงจะเริ่มต้นจาก hate speech ก่อนที่จะนำไปสู่ทางกายภาพ ดังนั้นจึงควรช่วยกันลด hate speech ด้วยหลัก 2 ไม่ 1 เตือน (ไม่ผลิตและไม่ส่งต้อข้อความที่สร้างความเกลียดชัง) และเตือนหากพบข้อความเหล่านั้นยิ่งเป็นกลุ่มเดียวกันการเตือนยิ่งได้ผลดี

6) สถานการณ์น่าเป็นห่วงไหม

- น่าเป็นห่วงมากแต่ครอบครัวก็เป็นทางออกสำคัญทั้ง2 ด้าน คือการปฏิบัติต่อเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ช่วยบรรเทาความรุนแรง และการปฏิบัติต่อสังคมและรัฐไม่ให้ใช้ความรุนแรง

- สังคมส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนได้ดีไม่ใช่เพราะตามคิดสุดขั้วทั้ง2ข้าง แต่ทางออกจะอยู่ในระหว่างทั้ง 2 ขั้ว การเรียนรู้ที่จะยอมรับความเห็นต่างว่าเป็นต้นทุน โดยไม่สร้างความเกลียดชังและความรุนแรง จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างสังคมในอนาคต และถ้าให้ดีอย่าให้ต้องสูญเสียกันอีกที่จะไปถึงจุดนั้น